In Global
ยุคใหม่ความสัมพันธ์ไทย-จีนในมุมมอง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย
นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการสัมมนา “ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-จีน” ที่สถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิตจัดขึ้น โดยให้มุมมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปว่า
โลกได้เข้าสู่ยุคใหม่ กระแสโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาความเจริญ ข้อมูลสารสนเทศ ระบบอัจฉริยะ โลกดิจิทัล ทำให้ชีวิตสะดวกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันการพัฒนาของมวลมนุษยชาติที่ไม่สมดุล ทำให้เกิดปัญหาและความท้าทายใหม่ ในโลกปัจจุบัน จึงต้องการความร่วมมือพิเศษ ที่รับความท้าทายกับอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้โลกมีสันติและการพัฒนา
ประเทศจีนเข้าสู่ยุคใหม่ โดยในปีค.ศ. 2021 ประเทศจีนบรรลุเป้าหมายอยู่ดีมีสุขอย่างถ้วนหน้า เริ่มต้นการบุกเบิกการเดินทางครั้งใหม่ในการสร้างประเทศสังคมนิยมที่มีความทันสมัยรอบด้าน โดยการประชุมสองสภาที่ผ่านมา มีการกำหนดพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศ นำเสนอความรุ่งโรจน์ในการพัฒนาประเทศในแบบจีน
ท่านทูตหาน จื้อเฉียง อธิบาย “ความทันสมัยแบบจีน” ว่า ความทันสมัยแบบจีนคือความทันสมัยที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นความทันสมัยที่ประชาชนทุกคนมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน เป็นความทันสมัยที่สอดประสานระหว่างความสมบูรณ์ทางวัตถุและจิตวิญญาณ เป็นความทันสมัยที่มนุษยชาติและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน และเป็นความทันสมัยที่ยึดมั่นในเส้นทางการพัฒนาอย่างสันติ
ตามแนวทางนี้ จีนจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นและอำนวยประโยชน์แก่โลกให้มากยิ่งขึ้น เมื่อปีค.ศ. 2022 ขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีของจีนสูงถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18.5 ของเศรษฐกิจโลก และเป็นเวลานับสิบปีที่เศรษฐกิจจีนมีส่วนช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่าร้อยละ 30 ในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว
สำหรับความสัมพันธ์จีน-ไทย ในยุคใหม่ ท่านทูตหาน จื้อเฉียง มองว่าในการขับเคลื่อนอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประการที่1 ต้องเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ต้องมีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และสิทธิในการพัฒนาของตนเอง
ประการที่2 ต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาควบคู่กัน ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน เร่งดำเนินการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทย ที่จะช่วยเชื่อมภูมิภาค และ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวและนวัตกรรมร่วมกัน
ประการที่3 ต้องสานสายใยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้แน่น
แฟ้นยิ่งขึ้น ร่วมกันสืบสานประเพณีดั้งเดิมของตะวันออกและค่านิยมของเอเชีย ยึดมั่นในการเปิดใจรับความร่วมมือ และการได้ประโยชน์ร่วมกันและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านอารยธรรมของโลกในยุคใหม่ร่วมกัน ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคของอินเทอร์เน็ตและยุคข้อมูลข่าวสาร ขยายวิธีการในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมให้มีความรู้ด้านการกีฬา ศิลปะวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
ประการที่4 ร่วมกันสร้างคุณูปการด้านสันติภาพในโลก โดยท่านทูตกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นบ้านของพวกเรา ต้องร่วมกันทะนุถนอมและรักษาไว้ซึ่งบรรยากาศที่ดี เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและคก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ ในโลกที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ขอให้ร่วมกันสร้างอนาคตร่วมกัน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของชาวไทยและชาวจีนและเพื่ออนาคตที่สดใสของภูมิภาคและโลก
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย