In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตราษฏร์บูรณะตรวจ คัดแยกขยะ/จัดเก็บรายได้/สวนหย่อม



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตราษฏร์บูรณะ ตรวจคัดแยกขยะเขตราษฎร์บูรณะ Test ระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ ปั้นสวนหย่อมหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน คุมเข้มค่าฝุ่นแพลนท์ปูนนครหลวง ชูคัดแยกขยะชุมชนรุ่งเรือง ส่องสวนน้ำตลิ่งชันริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล 

(26 พ.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะและเขตตลิ่งชัน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ มีข้าราชการและบุคลากร 204 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ทุกคนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะโดยแต่ละฝ่ายฯ จะมีจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะเป็นผู้เก็บรวบรวมทุกวันศุกร์สุดท้ายของแต่ละเดือน 2.ขยะอินทรีย์ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำถังสำหรับแยกเศษอาหารส่งมอบให้แต่ละฝ่าย เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บถังใส่เศษอาหารแต่ละฝ่ายในเวลา 14.00 น. เศษอาหารที่ได้นำไปหมักรวมกับเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่บดย่อยแล้ว เพื่อทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง ปุ๋ยที่ได้นำไปบำรุงรักษาต้นไม้ แปลงผักในพื้นที่เขตฯ และสวน 15 นาที 3.ขยะอันตราย จัดเก็บเดือนละครั้งทุกสิ้นเดือน 4.ขยะทั่วไป จะมีจุดตั้งวางถังขยะทั่วไป บริเวณหน้าห้องน้ำแต่ละชั้น แม่บ้านจะรวบรวมขยะมาไว้ที่ชั้น 1 สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5,818 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5,720 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 72 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากขยะรีไซเคิล โดยการนำขวดน้ำพลาสติกมาผลิตเป็นไม้กวาด 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ พร้อมทั้งได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 24,798 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 25,892 แห่ง ห้องชุด 10,796 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 61,486 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ซอยราษฎร์บูรณะ 27 เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 10 แห่ง ประเภทหลอมหรือหล่อโลหะ 4 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนหรือฝุ่นผงตกค้าง และตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ 

สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน ซอยราษฎร์บูรณะ 13 เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม ที่ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที คือสวนสุขเวชชวนารมย์ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 2 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 วา (1,123 ตารางเมตร) ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชนมอบให้กรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยได้ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนหย่อมสถานที่ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชน ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในสวนแล้ว นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะที่จะก่อสร้างใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 34.20 ตารางวา โดยจะปรับปรุงและปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพิ่มเติม จัดหาม้านั่งสนาม เพื่อให้ประชาชนให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงสวน 2.สวนซอยราษฎร์บูรณะ พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 47ตารางวา เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เขตฯ เข้าปรับปรุงพื้นที่บริเวณแนวร่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยดำเนินการปูหินตัวหนอนทำทางเดิน ฝังเสาโทริอิ สไตล์ญี่ปุ่น พร้อมปลูกต้นไม้เป็นสวนหย่อมเดินวิ่งออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจให้ประชาชนได้สัมผัสกับบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงสวน แต่ประชาชนสามารถเข้าใช้สวนได้แล้ว 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนรุ่งเรือง พื้นที่ 25 ไร่ ประชากร 1,854 คน บ้านเรือน 207 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีอาสาชักลากจัดเก็บเศษอาหารตามบ้าน รอให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนคัดแยกไว้จำหน่ายเป็นรายได้ของครอบครัว ส่วนประชาชนที่ไม่ประสงค์จะจำหน่ายได้มอบให้กับกรรมการชุมชนไว้ใช้ประโยชน์ โดยนำมามอบให้กรรมการชุมชนเอง และกรรมการชุมชนเดินไปรับถึงบ้าน 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังรองรับมูลฝอยภายในชุมชน ประชาชนแต่ละบ้านจะนำขยะมูลฝอยทั่วไป มาทิ้งใส่ถังที่ตั้งวางไว้ บริเวณหน้าชุมชน ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าดำเนินการจัดเก็บขยะวันเว้นวัน 4.ขยะอันตราย ประชาชนแยกทิ้งในถังขยะถังแยกประเภท (ถังสีส้ม) ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเจ้าหน้าที่เข้าจัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 31,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน 

จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำสวน 15 นาที สวนน้ำตลิ่งชัน พื้นที่ 12 ไร่ บริเวณริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 เขตตลิ่งชัน ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเป็นสวน 15 นาที โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักการโยธาปรับพื้นดิน โดยดำเนินการ ดังนี้ ยกท่อ Box Culvert เชื่อมรอยต่อท่อ Box Culvert เทดาดคอนกรีตหน้าท่อ Box Culvert และขนย้ายดิน สำนักการระบายน้ำขุดลอกคูน้ำ โดยดำเนินการ ดังนี้ ขุดลอกตกแต่งคูระบายน้ำโดยรอบ ความลึก -0.70 เมตร (รทก.) ขุดลอกบ่อน้ำความลึก -1.20 เมตร (รทก.) ก่อสร้างทำนบไม้ชั่วคราว 1 แห่ง ขุดวางท่อ Box Culvert 1 แห่ง ความลึกกันท่อ -1.20 เมตร (รทก.) ขุดวางท่อเชื่อมคูระบายน้ำและบ่อน้ำ และขนย้ายดิน สำนักสิ่งแวดล้อมประสานกลุ่ม We!Park ออกแบบ Conception Design เพื่อให้เป็น pop-up park จัดสรรพื้นที่ให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ เขตตลิ่งชัน สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล