EDU Research & ESG
มข.ร่วมทำเอ็มโอยูกับอว.จับมือ'ธัชวิทย์' ผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูงสู่เวทีโลก
กรุงเทพฯ-มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กระทรวง อว. เดินหน้าขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก
มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมพิธีเปิดตัว (Kick off) และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) พร้อมร่วมลงนาม ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดตัวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม(บพค.) ผู้บริหารกระทรวง อว. ผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชน เข้าร่วมงานในครั้งนี้
ในการนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดตัว ว่า ธัชวิทย์ เกิดจากความประสงค์ที่ต้องการให้วิทยาศาสตร์และวิทยาการของไทยทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรทำงานแค่เฉพาะทาง ธัชวิทย์ต้องเป็น Think Tank ของประเทศ หากประเทศมีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ธัชวิทย์ต้องเป็นหนึ่งในการตัดสินใจนั้น และเป็น virtual organization โดยไม่จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานใหม่ แต่นำคนเก่งจากหลายสถาบันมารวมกัน พัฒนาเรื่องที่น่าสนใจ ให้มีความก้าวหน้าระดับโลก ต้องสร้างคนที่เหมาะสม พร้อมทำงานให้อุตสาหกรรม และสอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ทำให้มาก จึงจะประสบความสำเร็จ ธัชวิทย์จะเป็นสูตรสำเร็จในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. ที่ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ และหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่ตนจะขอให้ธัชวิทย์ทำต่อจากนี้ คือ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก “งานใดทำแล้วไม่สนุก งานนั้นยากจะเก่ง” นอกจากนั้น ตนอยากเสนอ 2 หลักสูตรให้ธัชวิทย์ร่วมกันทำขึ้น คือ 1. เรื่องการท่องเที่ยวของไทย เพราะไทยมีการท่องเที่ยวที่เป็นระดับมหาอำนาจของโลก จึงอยากให้ผลิตหลักสูตรด้านการท่องเที่ยว เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับโรงแรมของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยให้ทำเป็นระดับปริญญาตรี 2. เรื่องของเด็กไทยที่สามารถสร้างผลงานจากการประกวดด้านวิทยาศาสตร์ ให้นำเด็กกลุ่มนี้มาศึกษาในสถาบันของธัชวิทย์ โดยที่ไม่เน้นเกรด แต่เน้นที่โครงงานการปฏิบัติ หาการเรียน การสอนที่มีความสนุกควบคู่ไปกับการเรียนจากการปฏิบัติ เพื่อรักษาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป
ขณะที่ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบาย ธัชวิทย์ เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตนักวิทย์ศักยภาพสูง ใน 4 สาขาได้แก่ สาขาวัสดุนาโนขั้นสูงในการกักเก็บคาร์บอน, สาขาชีวนวัตกรรมและอาหารแห่งอนาคต, สาขาสุขภาพส่วนบุคคลและปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคต และ สาขาการศึกษาแห่งอนาคต ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากหลักสูตรเหล่านี้ จะได้บัณฑิตร่วมกับสถาบันวิจัยและเอกชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 คน ในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า ก่อให้เกิดการยกระดับสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ให้สามารถสร้างกำลังคนเพื่อการสร้าง GDP ให้ประเทศไทยโดยฐานเทคโนโลยีขั้นสูง
ทั้งนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences: TAS) ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และสถาบันอุดมศึกษา เข้ามาทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี สร้างคลังสมอง เพิ่มอันดับมหาวิทยาลัยไทย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงในสาขาจำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศในเวทีโลก มุ่งเป้าให้ประทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และ มิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข