EDU Research & ESG

'ศิวะนันท์ ศิวพิทักษ์'เคล็ดลับความสำเร็จ 'สมดุลHard SkillsและSoft Skills'



สร้างความสำเร็จและความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดงานแห่งโลกอนาคต ด้วยการมีทั้ง “Hard Skills” และ “Soft Skills” เพื่อความสำเร็จของตนเองและองค์กรที่เข้าไปทำงาน

เพราะชีวิตที่ดีไม่ใช่มีเพียงแค่เก่งเรื่องงาน เก่งความรู้ เก่งเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ในโลกยุค 5.0 ที่มีความสลับซับซ้อน  มีการทำงานข้ามสายงาน มีการทำงานกับผู้คนต่างเจน ต่างช่วงวัย  และมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา สถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดแบบไม่หยุดนิ่งรอ แม้ชั่วข้ามคืน ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องคุยกับทีมงานใหม่ ต้องยกเลิกงานเดิม   

แล้วคนรุ่นใหม่ต้องมีทักษะอะไรที่จะทำให้ความสำเร็จมาเยือนเบื้องหน้าให้มากที่สุด คำตอบนั้นก็คือ “เก่งงาน เก่งคน เก่ง Hard Skills และ Soft Skills รู้จักการสร้างสมดุลในชีวิต ไม่มากไป ไม่น้อยไป”

ต้องสมดุล Hard Skills และ Soft Skills”

ผศ.ดร.ศิวะนันท์  ศิวพิทักษ์ หัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ และอาจารย์ประจำหลักสูตร MBA วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บอกว่า “อนาคตของทุกคนอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่าง Hard Skills และ Soft Skills เราจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดงานในอนาคตได้ หรือแม้ต้องทำธุรกิจส่วนตัว สองด้านนี้จะทำให้สามารถสร้างทีมงานของตัวเองที่เข้มแข็งได้  แม้ว่าในอดีตความสำคัญของ Hard Skills จะมีมากกว่า ทั้งในแง่บุคคลหรือองค์กรต่างมุ่งการพัฒนาทักษะความรู้ทางเทคนิคเฉพาะตัว ให้ลงลึก ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะเนื่องจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มีความซับซ้อนมากขึ้นและต้องใช้ความรู้ขั้นสูงในการนำมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น Generative AI ที่คาดการณ์กันว่าจะสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ที่หลากหลาย แต่แน่นอนว่า หากมีแค่ Hard Skills ในภาพรวมของทีมงานจะมีมิติที่ขัดแย้ง ไม่กลมกลืนกัน ดังนั้นทักษะ Soft Skills ก็ยังเป็นเบื้องหลังสำคัญของศาสตร์ด้านบริหารจัดการให้เกิดความประสานงานกันทุกส่วนอย่างลงตัว”

“ความสำคัญของทักษะ Soft Skills หรือ ทักษะด้านอารมณ์ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการโน้มน้าวใจ ทักษะการช่วยกันแก้ปัญหา ความสามารถในการปรับตัว และความฉลาดทางอารมณ์ กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในตลาดงาน ผู้นำองค์กรทุกที่ให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้มากขึ้น เพราะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถเสริมและสร้างความแตกต่างกับระบบ AI อัตโนมัติที่อาจจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ และ ที่สำคัญทักษะด้านอารมณ์ของพนักงานยังเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ช่วยให้บุคคลสามารถโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ทั้งไม่ว่าจะในเรื่องการสอนงาน หรือถ่ายทอดความรู้ในองค์กร ที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า”

ผศ.ดร.ศิวะนันท์ บอกต่อว่าจากรายงาน “Future of Jobs Report 2023” โดย World Economic Forum (WEF) การเสริมสร้าง ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ได้ถูกเพิ่มส่วนแบ่งของชั่วโมงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2023 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่บุคคลจะต้องพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ของตนเอง”

“กล่าวโดยสรุปคือ  ตลาดงานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ  เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่กำลังปรับเปลี่ยนความต้องการแรงงาน  ผลที่เกิดขึ้นจึงส่งให้นายจ้างต้องให้ความสำคัญกับทักษะ Soft Skills มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม Hard Skills ก็สำคัญเช่นกันเพราะนำมาซึ่งความสมดุล  ดังนั้นเราจึงต้องบาลานซ์ทั้ง 2 สิ่งอย่างนี้เข้าด้วยกัน เหมือนต้นไม้ไม่มีน้ำก็เฉาไม่เติบโตและตาย”

“ผลผลิตที่ดี” ต้องฐานแข็งแรง

ผศ.ดร.ศิวะนันท์ ได้พยากรณ์ถึงอนาคตไว้ว่า  “ด้วยการที่คนรุ่นใหม่มุ่งสร้างความสำเร็จและต้องการทำตัวให้แตกต่างเพื่อสร้างข้อได้เปรียบ ส่วนใหญ่จะวิ่งเข้าหาเทคโนโลยี ซึ่งพอนักศึกษาในยุคหน้ามี Integrate กับเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต และในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทุกคนเก่งพอๆ กัน ทำให้เกิดการแข่งขัน ต้องวิ่งเร็วขึ้น เกิดภาวะกดดัน ความเครียดในการทำงานที่มากขึ้น ดังนั้นในช่วงวัยเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาและช่วงที่จะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจึงควรตระหนักให้เห็นความสำคัญของทักษะ Soft Skills เข้าใจในด้านการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ปัญญา และหาความถนัดของตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร โดยไม่จำกัดการเรียนผ่านตำราหรือในห้องเรียน ต้องออกไปข้างนอก เจออะไรใหม่ๆ ให้มีความอยากรู้อยากเห็น หรือ Curiosity มีความกล้าคิดเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต”

“ส่วนด้านหลักสูตร ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยควรออกนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ Soft Skills ให้ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตร และ กระบวนการเรียนการสอน ออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองผู้เรียนแต่ละคน เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงพัฒนาสภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งต่อเชื่อมโยงกันในระดับอุดมศึกษาก่อนเข้าสู่โลกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน”

เช่นเดียวกันกับ “การปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจในเรื่องสร้างคน” สำหรับการสร้างบรรยากาศการทำงานที่คนทุกช่วงวัยทำงานด้วยกันได้ จะทำอย่างไร? ผศ.ดร.ศิวะนันท์ แนะนำว่าควรจะปูพื้น “Soft Skills” ให้มั่นจึงค่อยต่อยอดไปเน้น “Hard Skills” ผู้ประกอบการก็จะสามารถสร้างพนักงานที่รอบรู้ และ มีทัศนคติเชิงบวก รวมไปถึงมีความพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการใหม่ๆของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

“การฝึกพนักงานให้มีโอกาสเข้าถึงการสัมมนา การฝึกอบรมและพัฒนาดีๆ  ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานเชิงบวก ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน สร้างการสื่อสารที่เปิดกว้าง ตลอดจนการยกย่อง และให้รางวัลแก่พนักงานที่แสดงให้เห็นถึงทักษะด้านอารมณ์ความรู้สึกที่ดีและแข็งแกร่ง ผู้ประกอบการก็จะสามารถสร้างพนักงานที่รอบรู้ สามารถสร้างพนักงานที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างทีมงานที่ทำงานข้ามเจนเนอเรชั่นกันได้  จากนั้นค่อยเติม Hard Skills เติมเพื่อปรับให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง แนะนำให้มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ Hard Skills  ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของตนอีกที”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศิวะนันท์ ยังเสริมอีกว่าผู้ประกอบการควรติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับเทคโนโลยี และแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในอุตสาหกรรมของตนตลอดเวลา เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่สำหรับเปิดช่องการเติบโตและการหานวัตกรรมใหม่ๆเข้ามา อย่างเรื่อง AI ที่กำลังมาแรง ต้องมีทีมเข้าไปศึกษา และ ทีมนั้นต้องเป็นทีมที่มีทุกเจนเนอเรชั่นเพื่อหาโอกาสทั้งจากประสบการณ์เดิมและคิดสร้างสรรค์หาการต่อยอดใหม่ๆ  และที่สำคัญอย่างยิ่งผู้ประกอบการควรพิจารณาร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อให้กระบวนการสร้างทักษะ Hard Skills และ Soft Skills ดำเนินแบบต่อเนื่อง ตลอดเวลา ผู้ประกอบการก็จะได้สามารถมั่นใจได้ว่าธุรกิจของตนยังคงสามารถแข่งขันได้”

Future Skill “7ข้อ” ปลุกความสำเร็จที่ต้องสัมผัส

ผศ.ดร.ศิวะนันท์ ระบุว่าที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ของ DPU หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต จะมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ "NEW Business DNA" เก่งทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจด้านการจัดการองค์กรสมัยใหม่ เป็นผู้ประกอบการแห่งศตวรรษที่21 ที่มีความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมและสร้างมูลค่า ก่อให้เกิดความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ มีหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มีหลักจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจนั้นๆ มีความสามารถในการแข่งขันอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน  

“เราได้ปรับปรุงหลักสูตรที่มุ่งเน้นรายวิชาที่เป็น Module ตั้งแต่ปี1 หลังจากนั้นก็มีการเรียนการสอนแบบ Capstone Project  พอนักศึกษาเรียนถึงปี 4 ก็จะเน้นการฝึกงานผ่านโครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน กับสถานประกอบการ หรือ Cooperative and Work Integrated Education Program (CWIE) โดยการเรียนการสอนตั้งแต่ปี1 ที่เน้นการทำงานกลุ่มผ่าน Project ซึ่งจะทำให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกทักษะต่างๆ ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills มากมายที่จะเป็นแก่นของความสำเร็จ”

“โดยทักษะที่จะได้ชัด ๆ คือในเรื่อง 1. ทักษะการแก้ปัญหา Problem Solving 2.การคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking 3.การคิดเชิงสร้างสรรค์ Creative thinking 4.การเป็นผู้เรียนเชิงรุก Active Learner 5.ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล Digital Literacy 6.การทำงานร่วมกับผู้อื่น Collaborative Skill 7.ความรู้ทางธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ Business and Entrepreneurial Literacy” ผศ.ดร.ศิวะนันท์ ระบุทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม และกล่าวว่า “ในฐานะอาจารย์ นักศึกษาทุกคนเสมือนลูกหลาน หากใช้หลัก Hard Skills และ Soft Skills นี้จะช่วยย่นเวลาแห่งความสำเร็จขยับใกล้ยิ่งขึ้น และถึงแม้มีอุปสรรคใดๆ เข้ามา แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าก็จะสามารถผ่านไปได้และสร้างความสำเร็จได้”