In Bangkok

'ชัชชาติ'ย้ำชัดเจนหากผู้ใต้บังคับบัญชา ในเขตทุจริตผอ.ต้องรับผิดชอบด้วย



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำชัดเจน หากผู้ใต้บังคับบัญชาในเขตทุจริต ผู้อำนวยการเขตจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนสถานการณ์ฝนปีนี้ การระบายน้ำจะดีขึ้น

(1 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า  วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงานหลังจากเข้ามาบริหารราชการครบ 1 ปี เนื่องจากเรามีนโยบายที่ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นทุกคนจึงสามารถผลักดันนโยบายได้ ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มีความคืบหน้าไปหลากหลายด้าน โดยจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 13 มิ.ย. 66 

สำหรับระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาที่มีมาต่อเนื่อง โดยได้นำเรื่องต่าง ๆ ที่ค้างคาอยู่มาผลักดัน ซึ่งทำไปได้เยอะ ส่วนในปีต่อไปก็จะเป็นมาตรการเชิงรุกมากขึ้น ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงปัญหาและเร่งแก้ไขโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามา 

ในส่วนของเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อ คือ เรื่องความโปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่หยุดไม่ได้ ทุกคนยังคงเป็นข้อกังวลอยู่ กรุงเทพมหานครมีบุคลากรจำนวนมาก มีคนดีและคนไม่ดีอยู่ด้วยกัน แต่เชื่อว่ามีคนดีอยู่เยอะกว่า ขณะเดียวกันมีคนไม่ดีด้วย ก็ได้มีคณะทำงานมาแก้ปัญหาตรงนี้อย่างจริงจัง เพื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าคนที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่เอาไว้ แต่เชื่อว่ายังมีข้อบกพร่องและต้องปรับปรุงต่อ โดยเฉพาะในเรื่องการรีดไถต่าง ๆ ยังมีข้อมูลรายงานมาว่ามีเหตุเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จึงต้องเร่งดำเนินการ ได้สั่งการให้รองปลัดฯ เฉลิมพล ไปดูว่าเป็นอย่างไร หาหลักฐานได้ไหม ซึ่งได้มีการเตือนให้ทุกเขตระมัดระวังเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ดำเนินการตามกฎหมายยาก ที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ล่อซื้อไปหลายเคส เพราะเราทำเองไม่ได้ มีการแจ้งทุจริต 100 กว่าเรื่อง ผ่าน Traffy Fondue 77 เรื่อง ถ้ามีเบาะแสก็มีการดำเนินการตลอด แต่ต้องมีข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อ วันนี้ได้เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการเขตติดตาม เพราะอยู่ในความรับผิดชอบที่ต้องดูแล จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เพราะว่าถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม จากความเอาจริงเอาจังของผู้บริหาร เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น 

ปัจจุบันใบอนุญาตออนไลน์ยังทำได้ไม่ครอบคลุม โครงการใหญ่ ๆ ยังต้องยื่นเรื่องตามปกติ อยู่ระหว่างขยายการดำเนินการ และคิดว่าคนก็ยังไม่คุ้นชิน แต่อนาคตจะคุ้นชินกันมากขึ้น รวมถึงมีการให้คณะกรรมการมาช่วยดู ไม่ใช่ตัดสินใจแค่คนเดียว ซึ่งก็จะทำให้เด็ดขาดมากขึ้น

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  กรณีแรก อาจเป็นข้อบัญญัติบางอย่างหรือกฎกระทรวงการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารไม่ค่อยสอดคล้องกับบริบทของปัจจุบัน ขณะนี้กำลังทบทวนและฟังเสวนาเรื่องพวกนี้เพื่อทำให้กฎหมายสอดคล้องกับบริบทในกรุงเทพมหานคร ส่วนที่สอง เป็นการปรับให้มีการยื่นขอนุญาตออนไลน์ได้เพื่อความสะดวก เบื้องต้นตอนนี้อยู่ที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตรก่อน อนาคตก็จะขยายไปอาคารประเภทอื่นด้วย แต่ต้องแยกออกจากกันระหว่างกระบวนการยื่นกับกระบวนการพิจารณา

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า  ต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันยังมีอยู่ คนไม่กี่คนทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเสีย แต่ถ้าไม่ยอมรับความจริงก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องยอมรับและปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แนวทางดำเนินการเป็นไปด้วยดี มีการร่วมมือกับ ป.ป.ช. มาตลอด คิดว่าน่าจะเห็นผลต่อไป ต้องทำหลายอย่างให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงกฎหมาย ลดการใช้วิจารณญาณของคนเดียว เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังได้มีการเน้นย้ำเรื่องต่าง ๆ ที่ประชาชนพบเจอ เช่น หาบเร่-แผงลอย ทางเท้า การขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า และน้ำท่วม เพื่อเร่งดำเนินการต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาที่คนกังวลตอนนี้ เพราะฝนเริ่มมาแล้ว จะเห็นได้ว่าช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่เราได้ลงพื้นที่ไปดู ก็ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ น้ำลงได้เร็ว น้ำท่วมค้างไม่นาน 

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวถึงเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า  จากการถอดบทเรียนในปีที่ผ่านมา เราได้ข้อมูลจุดน้ำท่วมทั้งหมด 737 จุด เป็นจุดที่น้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด โดยมีการแก้ไขถาวร 90 จุด แก้ไขเร่งด่วน 527 จุด (ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 224 จุด ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 165 จุด เรียงกระสอบทราย 97 จุด ขุดลอกคลอง 17 จุด เสริมผิวจราจร 24 จุด) และเป็นจุดที่น้ำท่วมจากน้ำหนุน 120 จุด โดยมีการแก้ไขถาวร 29 จุด แก้ไขเร่งด่วน 91 จุด (เรียงกระสอบทราย 69 จุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 จุด สร้างรางระบายน้ำ 1 จุด JET MIX 18 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 1 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ+JET MIX 1 จุด)

ในส่วนของการขุดลอกท่อระบายน้ำ กรุงเทพมหานครมีท่อระบายน้ำยาว 6,441 กม. แผนขุดลอกในปี 2565 ระยะทาง 3,356.9 กม. และลอกต่อเนื่องอีก 674.4 กม. แล้วเสร็จ 100% ส่วนแผนขุดลอกในปี 2566 ระยะทาง 3,758.4 กม. แล้วเสร็จ 2,597.6 กม. (69.11%) อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,160.8 กม. (30.89%) จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66

สำหรับการขุดลอกและเปิดทางน้ำไหลคลอง 1,980 คลอง ระยะทาง 2,744,923 เมตร แบ่งออกเป็นเปิดทางน้ำไหล (เก็บผักตบชวา ขยะ ฯลฯ) โดยการดูแลรักษาประจำ 1,227,262 ม. เปิดทางน้ำไหลปีละ 1 ครั้ง 1,326,058 ม. และเปิดทางน้ำไหลปีละ 4 ครั้ง 191,603 ม. ซึ่งการเปิดทางน้ำไหลปีละ 1 ครั้งและ 4 ครั้ง ขณะนี้แล้วเสร็จ 85% จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66 ด้านการขุดลอก มีแผนขุดลอก 182 คลอง 202,704 ม. แล้วเสร็จ 75% จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66 เพื่อรับน้ำฝนที่จะมา

ด้านการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำประจำปี 2566 ได้มีการบำรุงรักษาประจำปี เช่น ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น ทำความสะอาด ทาสี ฯลฯ ปัจจุบันดำเนินการได้ 409 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 21 แห่ง ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในเดือนนี้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า  เรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้หยุด เราลุยเรื่องเส้นเลือดฝอย เช่น ท่อระบายน้ำ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการบำรุงรักษาดูแลเส้นเลือดใหญ่ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ ควบคู่กันไปด้วย เมื่อท่อระบายน้ำสามารถระบายได้ดี น้ำก็ไปถึงอุโมงค์ได้เร็วขึ้น ไม่ท่วมขังนาน ซึ่งทั้งหมดน่าจะเห็นผลในปีนี้ คือ มีการระบายน้ำที่รวดเร็วขึ้น

อีกเรื่องที่น่าสนใจที่เราเริ่มทำไปแล้วคือ Open Data และแผนที่ความเสี่ยง หรือ Bangkok Risk Map โดยนำจุดเสี่ยงมาลงแผนที่ อาทิ จุดเสี่ยงน้ำท่วม ทำให้เห็นภาพว่าเราต้องโฟกัสตรงตำแหน่งไหนบ้าง

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  วัตถุประสงค์ของ Risk Map คือ 1. กรุงเทพมหานครใช้ในการบริหารจัดการได้ตรงมากขึ้น โดยมีเหตุผลในการใช้งบประมาณในการปรับปรุง และ 2. เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย เช่น เรื่อง Road Safety ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถนำมาเทียบได้เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ทำให้ กทม.สามารถใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องจุดเสี่ยง ในขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถดูเรื่องการจราจรและจุดเสี่ยงได้ด้วย

สิ่งที่เรากำลังจะทำเพิ่มเติมซึ่งสำนักงานเขตช่วยดำเนินการอยู่ คือ นำเข้าข้อมูลประปาหัวแดงอยู่ที่ไหน มีถังแดงอยู่ที่ไหนในชุมชน สถานีดับเพลิง สถานพยาบาล และพื้นที่ที่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการที่เราใช้เป็นพื้นที่พักพิง ก็จะเริ่มเอาข้อมูลเข้า ตอนนี้ทางสำนักงานเขตจะคุ้นชินกับการนำเข้าข้อมูลอยู่ในแผนที่ที่เป็น Google Map ที่เขาใช้อยู่ แต่ต่อไปเราจะถอดข้อมูลเหล่านี้เข้าแผนที่กลางแผนที่เดียว หรือ One Map เพื่อให้เราสามารถเรียกดูข้อมูลทั้งในแง่ของพื้นที่เสี่ยง ทรัพยากรและอุปกรณ์ที่เรามี สุดท้ายเราจะทำแผนที่ละเอียดขึ้น คือ ผังชุมชน โดยทำให้ง่าย ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ได้ และกำลังจัดทำแผนเผชิญเหตุชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถทราบทางเข้า-ออก ทราบความแคบของพื้นที่ จุดรวมพลจะอยู่ตรงไหน จุดนับคน และมีการระบุว่ามีกลุ่มเปราะบางอยู่ที่ไหน ทั้งนี้จะยังเห็นเป็นข้อมูลคร่าว ๆ เพราะเราต้องใช้ในการบริหารจัดการและต้องปกป้อง privacy ของภาคประชาชนด้วย 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า  ปีนี้จะขยายเรื่องนี้ไปทุกเขตให้ครบถ้วน ซึ่งเรามีอาสาสมัครเทคโนโลยีช่วยในการอัปเดตข้อมูลในชุมชน เพื่อให้อนาคตเราเข้าถึงการให้บริการแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

นโยบายปัจจุบัน เราทำโครงการเส้นเลือดฝอยเยอะมากเพราะว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ประชาชนจริง ๆ โดยปรับปรุงเรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษาต่าง ๆ ถามว่าทำไมเราไม่มี Mega Project เพราะเราต้องดูสถานะการเงินเราด้วย อย่าง BTS เราก็ยังไม่แน่นอนเรื่องสภาพหนี้ ปัจจุบันเรามีหนี้ BTS อยู่เกือบแสนล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน ค่าเดินรถในส่วนต่อขยาย ฯลฯ รวมแล้วมูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านบาท เรามีงบผูกพันที่ได้มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว เกือบ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การทำโครงการ Mega Project จำเป็นแน่นอน แต่ต้องรอบคอบ เราต้องใช้เงินให้น้อยแต่ให้ได้ผลเยอะ ฉะนั้นช่วงนี้เราจะใช้กับโครงการเส้นเลือดฝอย ส่วน Mega Project ที่มีอยู่แล้ว เราทำอยู่ตลอด โดยพยายามใช้เงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“เบื้องต้นค่อนข้างพอใจ เชื่อว่าสิ่งที่เห็นเป็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดฝอยทำไปพร้อมกัน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง โครงการที่ให้ไว้กับประชาชนก็เดินหน้าทุกโครงการไม่มีปัญหาอะไร” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ว่า  ได้มีการหาแนวทางป้องกัน ซึ่งตอนนี้กำลังประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้านครหลวงที่จะจัดทีมร่วมกัน โดยมีเครือข่ายวิทยาลัยช่างเทคนิคมาร่วมในการออกสำรวจตามชุมชน เก็บข้อมูลเหตุไฟฟ้าลัดวงจร ลงพื้นที่ช่วยตรวจสายไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สภาพไม่ดี ให้มีการซ่อมแซมให้ดีก่อนใช้งาน

ส่วนเหตุเพลิงไหม้ที่โรงเรียนวัดดอกไม้เมื่อเช้าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร มีพื้นที่เสียหายประมาณ 5 ตารางเมตร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาได้กำชับให้มีการสำรวจความพร้อมก่อนเปิดเรียนแล้ว ก็จะมีการดำเนินการเชิงรุกเพิ่มเติมต่อไป