In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตวัฒนาติดตามงาน ศูนย์BFC/สวนหย่อมริมคลองเป้ง/คุมฝุ่น
กรุงเทพฯ-ตรวจแยกขยะเขตวัฒนา เช็กระบบ BMA-TAX เยี่ยมชมศูนย์ BFC ส่องสวนหย่อมริมคลองเป้ง คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์งาน APAC Tower จัดระเบียบผู้ค้าย่านสุขุมวิท เล็งปรับปรุงซอยปรีดีพนมยงค์ 4 ย้ำใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน
(1 มิ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวัฒนา ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตวัฒนา มีข้าราชการและบุคลากร 203 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลประเภทขวดน้ำพลาสติก โดยนำมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ กิจกรรมขวดแลกผัก จัดขึ้น 2 เดือน/ครั้ง ปริมาณขยะ 15 กิโลกรัม/ครั้ง กิจกรรมรับซื้อขยะรีไซเคิล จัดขึ้น 2 เดือน/ครั้ง ปริมาณขยะ 20 กิโลกรัม/ครั้ง กิจกรรมบริจาคขวดเพื่อพี่ไม้กวาด ปริมาณขยะ 7 กิโลกรัม/เดือน ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิล จำนวน 3 ใบ ปริมาณขยะ 3 กิโลกรัม/สัปดาห์ 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังรองรับขยะอินทรีย์ (ถังไม่เทรวม) จำนวน 13 ถัง ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน ในเวลา 14.00 น. จำนวนเฉลี่ย 8 กิโลกรัม/วัน เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่สวนป่าเอกมัย ปริมาณปุ๋ยหมักอินทรีย์ 100 กิโลกรัม/เดือน นำไปบำรุงรักษาตันไม้ของเขตฯ 3.ขยะอันตราย ตั้งจุด Drop off ที่บริเวณชั้น 8 หน้าห้องฝ่ายรักษาความสะอาดฯ โดยประชาสัมพันธ์แจ้งให้บุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการ นำขยะอันตรายมาใส่ในตู้จุด Drop Off ปริมาณขยะ 35 กิโลกรัม/เดือน เพื่อนำส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป 4.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังขยะเพื่อรองรับมูลฝอยไว้ตามชั้นต่าง ๆ จำนวน 3 ใบ โดยเจ้าหน้าที่ของอาคารจะจัดเก็บรวมขยะทั่วไป ในเวลา 15.00 น. ปริมาณขยะ 240 ลิตร/วัน และนำไปรวมที่จุดพักขยะของอาคารลิเบอร์ตี้ ชั้น 1 สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 240 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 42 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 25,003 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 41,078 แห่ง ห้องชุด 53,012 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 119,093 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตวัฒนา เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ปฏิบัติงาน จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในแต่ละฝ่าย การให้บริการภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการเกิดความพึงพอใจ
สำรวจความก้าวหน้าการจัดทำสวน 15 นาที สวนหย่อมริมคลองเป้ง ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ว่างริมคลองเป้ง จัดทำเป็นสวนหย่อมในรูปแบบ Pocket Park ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ว่างจัดทำเป็นสวนสาธารณะ ในรูปแบบสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตวัฒนา ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง บริเวณสวนดังกล่าว
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 22 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 204 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขุมวิท 1 ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 11 ผู้ค้า 9 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 13 ผู้ค้า 5 ราย 4.ซอยสุขุมวิท 17 ผู้ค้า 2 ราย 5.ซอยสุขุมวิท 19 ผู้ค้า 6 ราย 6.ซอยสุขุมวิท 21 (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 10 ราย 7.ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี แยก 1) ผู้ค้า 12 ราย 8.ซอยสุขุมวิท 23 ผู้ค้า 12 ราย 9.ซอยสุขุมวิท 31 ผู้ค้า 14 ราย 10.ซอยสุขุมวิท 33 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 20 ราย 11.ซอยสุขุมวิท 39 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 6 ราย 12.ซอยสุขุมวิท 39 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 5 ราย 13.ซอยสุขุมวิท 41 ผู้ค้า 5 ราย 14.ซอยสุขุมวิท 57 ผู้ค้า 9 ราย 15.ซอยสุขุมวิท 63 ผู้ค้า 13 ราย 16.ซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย 30) ผู้ค้า 29 ราย 17.ถนนสุขุมวิท (หน้าวัดธาตุทอง) ผู้ค้า 11 ราย 18.ซอยสุขุมวิท 65 ผู้ค้า 14 ราย 19.ซอยสุขุมวิท 69 ผู้ค้า 4 ราย 20.ซอยสุขุมวิท 11 (กลางคืน) ผู้ค้า 3 ราย 21.ซอยสุขุมวิท 39 (กลางคืน) ผู้ค้า 1 ราย และ 22.ซอยสุขุมวิท 77 (กลางคืน) ผู้ค้า 9 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ตลอดจนไม่ให้ตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้บริเวณทางเท้า พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเอแพค ทาวเวอร์ (APAC Tower) บริเวณปากซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กความสูง 26 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำตลอดเวลาในช่วงปฏิบัติงาน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกอย่างสม่ำเสมอ ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ
ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการปรับปรุงซอยปรีดีพนมยงค์ 4 ซึ่งปัจจุบันซอยดังกล่าว มีสภาพต่ำกว่าพื้นที่ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง เมื่อฝนตกหนักส่งผลกระทบต่อระบบการระบายน้ำ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข โดยกำหนดแนวเขตทางที่ชัดเจน การยกฝาท่อบ่อพักให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายงบประมาณในการปรับปรุง จะต้องพิจารณาถึงรูปแบบความเหมาะสม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินงานปรับปรุงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย ที่สำคัญต้องเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวัฒนา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล