In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงติดตามงานเขตวังทองหลาง คุมฝุ่นจิ๋ว/ดูคัดแยกขยะ/สวนสมุนไพร



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตวังทองหลาง สั่งคุมเข้มฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนคอนสตรัคชั่น ชมคัดแยกขยะสหการประมูล พัฒนาสวนสมุนไพรลาดพร้าว 84 ติดตามปรับภูมิทัศน์ริมคลองแสนแสบ เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตวังทองหลาง สำรวจ Hawker Center ชุมชนน้อมเกล้า 

(2 มิ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง ประกอบด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท คอนสตรัคชั่น คอนกรีต จำกัด ซอยสหการประมูล ถนนประชาอุทิศ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่าแพลนท์ปูนดังกล่าว ไม่ได้ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า รั้วกั้นรอบแพลนท์ปูนมีความสูงประมาณ 3 เมตร รางน้ำด้านหน้าทางเข้ามีเศษทรายเศษปูนตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก โดยรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้กำชับให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าในวันนี้พบว่า ผู้ประกอบการแพลนท์ปูน ได้ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า ส่วนรั้วกั้นรอบแพลนท์ปูนอยู่ระหว่างการจัดทำรั้วให้มีความสูง 6 เมตร รางน้ำด้านหน้าทางเข้าได้ทำความสะอาดแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำตะแกรงดักเศษดิน เศษทราย เศษปูน เพิ่มเติม นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณบ่อคายกาก บ่อพัก และบ่อน้ำดี ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณโดยรอบ ตรวจสอบไม่ให้น้ำปูนไหลลงสู่ท่อระบายน้ำภายนอก เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบแพลนท์ปูนตลอดเวลา ฉีดล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนตกค้าง ล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และป้องกันมลพิษในอากาศ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 70 ไร่ ประชากร 273 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหาร โดยคัดแยกน้ำและเศษอาหารออกจากกัน โดยเศษอาหารจะคัดแยกให้เขตฯ นำไปใช้ประโยชน์ทำปุ๋ยในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ 9 ไร่และส่งโรงงานปุ๋ยอินทรีย์อ่อนนุช ส่วนน้ำที่กรองได้ จะเทลงท่อดักไขมัน เพื่อกรองไขมันออกจากน้ำ ก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำรวม 2.ขยะรีไซเคิล จัดวางตะแกรงคัดแยกประเภทขยะ จำนวน 7 จุด กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยคัดแยกขยะรีไซเคิลไว้ เพื่อนำไปจำหน่าย แล้วนำรายได้เข้าส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ในองค์กรทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ CSR (Corporate Social Responsibility) โดยสนับสนุนค่าอุปกรณ์ติดตั้งถังดักไขมันเขตวังทองหลาง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปทุกจุด แล้วนำไปรวบรวมที่จุดพักขยะ เพื่อให้เขตฯ นำไปกำจัด 4.ขยะอันตราย เขตฯ เข้าจัดเก็บ เมื่อได้รับแจ้งจากทางบริษัท เฉลี่ย 2 เดือน/ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 450 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการปรับปรุงสวน 15 นาที บริเวณสวนสมุนไพร ซอยลาดพร้าว 84 ริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง สุ่มเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อประชาชนผู้สัญจรผ่านไป-มา เขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นป่าที่มีความร่มรื่นสวยงามพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ มีแนวทางพัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการในรูปแบบสวนสาธารณะ ตามนโยบายของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สวน 15 นาที และลดพื้นที่สุ่มเสี่ยงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 5 สวน ดังนี้ 1.สวนสาธารณะวังทอง 1 2.สวนสาธารณะวังทอง 2 3.สวนสมุนไพร (ซอยลาดพร้าว 84) 4.ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 7 ไร่ หน้าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 5.สวนป่าสี่มุมเมือง และสวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ ถนนลาดพร้าวตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม 

ติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณทางเดินริมคลองแสนแสบ ซอยลาดพร้าว 122-124 เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองแสนแสบ ตามโครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ (คลองผดุงเกษมและคลองแสนแสบ) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ รับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่แยกคลองลาดพร้าวถึงแยกคลองจั่น ระยะทางทั้งหมด 3,300 เมตร โดยจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนวริมฝั่งคลอง ปลูกเฟื่องฟ้าในกระบะเพิ่มเติม จากเดิม 300 ต้น ปลูกเพิ่มอีก 400 ต้น พร้อมทั้งบำรุงดูแลรักษาเติมดินวัสดุปลูกและรดน้ำเป็นประจำ รวมถึงตัดแต่งต้นไม้ที่ห้อยย้อยตามทางเดิน และได้จัดทำจุดเช็คอินบริเวณชุมชนวัดเทพลีลา 

ตรวจความพร้อมการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 43,154 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 37,811 แห่ง ห้องชุด 25,297 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 106,262 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตวังทองหลาง พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน รวมถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์เอกสารที่ใช้ปฏิบัติงาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหามาทดแทน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตวังทองหลาง วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.กำหนดจุดรวมขยะ ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร ขยะอันตราย และหน้ากากอนามัย จำนวน 1 จุด บริเวณลานจอดรถ ชั้น 1 ด้านจอดรถจักรยานยนต์ 2.กำหนดให้แต่ละฝ่าย ตั้งวางถังขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร อย่างละ 1 ใบ โดยมีแม่บ้านทำความสะอาดของแต่ละฝ่าย จัดเก็บรวบรวมและนำไปทิ้งที่จุดรวมขยะ บริเวณลานจอดรถมอเตอร์ไซค์ 3.โครงการไม่เทรวม แต่ละฝ่ายคัดแยกเศษอาหาร โดยมีแม่บ้านทำความสะอาดของแต่ละฝ่าย รวบรวมไปไว้ที่จุดรวมขยะ มีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะรีไซเคิล จะเก็บไว้เพื่อนำไปจำหน่าย และรวบรวมรายได้จากการจำหน่าย นำไปถวายผ้าป่ารีไซเคิลให้กับวัดสามัคคีธรรม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 345 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 270 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 69 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 230 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 180 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน 

สำรวจพื้นที่ Hawker Center ชุมชนน้อมเกล้า ซอยรามคำแหง 39 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้สำรวจและพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ ซึ่งมี 2 จุด ได้แก่ ลานด้านหน้าอาคารชุมชนน้อมเกล้า ซอยรามคำแหง 39 และลานกีฬาชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับลานชุมชนน้อมเกล้า ซอยรามคำแหง 39 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคง และจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งติดถนนจัดเป็นตลาดชุมชน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มีหนังสืออนุญาตให้เขตฯ ใช้ที่ดิน 300 ตารางวา เป็นพื้นที่ทำการค้าของประชาชนในชุมชนบริเวณซอยรามคำแหง 39 ส่วนลานกีฬาชุมชนรุ่งมณีพัฒนา จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สวนเกษตรเดิม เป็นลานกีฬาชุมชน และจัดสรรพื้นที่ 200 ตารางวา เป็นพื้นที่ทำการค้าเพื่อรองรับผู้ค้า หรือตลาดชุมชนด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเรื่องไปยังสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อขอเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ และหากดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เขตฯ จะย้ายผู้ค้านอกจุดผ่อนผันซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 เข้าทำการค้าในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 144 ราย ดังนี้

1.ซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย เวลาทำการค้า 07.00-11.00 น. 2.ซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 ผู้ค้า 35 ราย เวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. (8 ราย) เวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. (27 ราย) 3.ซอยลาดพร้าว 87 แยก 10-26 ผู้ค้า 33 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 4.ถนนอินทราภรณ์ ข้างห้างโลตัส สาขาศรีวรา ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1139 ผู้ค้า 16 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. (12 ราย) เวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. (4 ราย) 5.หน้าตลาดสะพานสอง (แนวใน) ตั้งแต่ปากซอยลาดพร้าว 45/1 ถึงปากซอยลาดพร้าว 49 ผู้ค้า 30 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 6.ปากซอยลาดพร้าว 98 ผู้ค้า 5 ราย เวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 7.ซอยลาดพร้าว 101 แยก 3-29 ผู้ค้า 10 ราย เวลาทำการค้า 09.00-15.00 น. และ 8.ซอยลาดพร้าว 122 แยก 18 ผู้ค้า 7 ราย เวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายประพาส  เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล