In Bangkok
'ทวิดา'ติวนักศึกษาศิลปศาสตร์-สิงคโปร์ ทำความมั่นใจสถานพยาบาลบริการปชช.
กรุงเทพฯ-(5 มิ.ย. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ มหานครแห่งสุขภาพ : กรณีศึกษา กรุงเทพมหานคร (Healthy Metropolitan : A Case Study of BMA) แก่นักศึกษา Yale-NUS College ซึ่งเป็นวิทยาลัยศิลปศาสตร์ในสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยความร่วมมือระหว่าง Yale University และ National University of Singapore ในหลักสูตร Summer School ณ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC) ห้อง Auditorium ชั้น 1 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดถึงประสบการณ์ในการทำงานและภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสุขภาพดี ในการทำหน้าที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด 12 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์สาขาย่อย 77 แห่ง ในการให้บริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานครมีประชากรตามทะเบียนบ้านประมาณ 5.5 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงกรุงเทพมหานครต้องดูและประชาชนประมาณ 10.5 ล้านคน เนื่องจากกรุงมหานครเป็นเมืองหลวงจะมีประชาชนแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยหรือทำงานด้วย เป็นเรื่องยากที่จะมีแพทย์เพียงพอกับการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วย จึงมีแนวทางในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การนำอาสาสมัครสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแลด้านสุขภาพในชุมชน
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการกำหนดเวลาเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุฉุกเฉินให้ได้ภายใน 8 นาที แต่ในความเป็นจริงทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากบริบทของพื้นที่และการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้หาแนวทางปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ในการให้บริการร่วมกัน ปรับการใช้รถฉุกเฉินขนาดใหญ่ให้เป็นรถขนาดเล็กลง หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้เร็วขึ้น นำเทคโนโลยีมาช่วยให้สามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมถึงให้ชุมชนแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขตั้งแต่ปฐมภูมิ จึงต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นว่าศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิมีความพร้อมในการให้บริการประชาชน หากเจ็บป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลก็จะเป็นการเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนด้วย