In Bangkok

กทม.บูรณาการสร้างแพลตฟอร์'เติมเต็ม' พลิกบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง



กรุงเทพฯ-กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดงาน “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็ก ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” ในวันที่ 8 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 - 13.00 น. ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง เพื่อแถลงผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือการรังสรรค์นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ตลอดจนเพื่อสร้างและขยายข่ายงานความร่วมมือกับหน่วยบริการต่าง ๆ ในการทดสอบและพัฒนา “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก” พร้อมเตรียมขยายผลความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในระยะถัดไป

โดยวันนี้ (8 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็ก ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” และร่วมเสวนาในหัวข้อ “ต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเติมเต็ม : พลิกโฉมการจัดบริการคุณภาพชีวิตเด็ก 4 มิติที่ไร้รอยต่อ (Innovative Smart Governance)” โดยกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายมีแนวคิดดำเนินการทดสอบเพื่อขยายผลแพลตฟอร์มเติมเต็มให้ครอบคลุม 6 โซน ครบทั้ง 50 เขต

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  เด็กคือทรัพยากรที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของเมืองและเป็นผู้ขับเคลื่อนเมืองในอนาคต การเติบโตในสภาพแวดล้อมนี้จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างรอบด้าน ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในสภาวะขาดแคลนหรือมีปัญหาต่าง ๆ ทั้งการศึกษา ที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สุขภาพกายและสุขภาพจิต การขาดสารอาหารและอื่น ๆ มากมาย ล้วนแต่เป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน ซึ่งข้อมูลความต้องการเหล่านี้หากสามารถส่งผ่านไปยังหน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเป็นไปอย่างต่อเนื่องยั่งยืน จะทำให้เด็กได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างครอบคลุม

“แพลตฟอร์มเติมเต็ม : นวัตกรรมพลิกโฉมบริการคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง” เป็นการจัดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมภาคส่วน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กทม. DGA สสส. และ สวน. ผ่านการจัดกระบวนการร่วมศึกษาในรูปแบบของ “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริการแบบแบ่งปันข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ระยะที่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางของกรุงเทพมหานคร ให้สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในการประยุกต์ใช้แนวคิดและแนวทางดำเนินการเพื่อการดูแลและคุ้มครองป้องกันเด็กตั้งแต่ระยะแรกปรากฏของภัยคุกคาม มุ่งเน้นให้เห็นถึงผลประจักษ์ในการคุ้มครองป้องกันเด็กต่อการถูกละเมิดสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ตลอดจนให้ตอบสนองต่อนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรวมพลังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจะขยายผลความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์กับการดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางได้อย่างครอบคลุม โดยความร่วมมือกับพม. เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดบริการทางสังคมที่ดำเนินการได้แบบไร้ตะเข็บและการขยายผล Sandbox ออกไปยังในพื้นที่ต่าง ๆ ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทยจะเกิดขึ้นในระยะถัดไป

ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดงานว่า  กรุงเทพมหานครมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนนี้จะมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสอย่างน้อยปีละ 20,000 คน เกิดเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรที่จะเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้และทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งการดำเนินการช่วยเหลือต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้ถูกลืม กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมมือกันในการคิดพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลและประเมินผลต่าง ๆ เพื่อดูแลเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางของกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และจะมีก้าวต่อ ๆ ไปในการดูแลคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ขึ้นมา ถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะแต่ได้ผลมหาศาล เพราะเด็กจะมีการพัฒนามากในช่วงแรก หรือระหว่าง 0 - 6 ขวบ ถ้าเราดูแลเขาอย่างดี ให้เขาได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เขาก็จะเป็นคนที่มาช่วยขับเคลื่อนเมืองต่อไปในอนาคต แต่หากเรารอให้เด็กโตแล้วค่อยไปดูแลก็อาจจะสายเกินไป 

สำหรับข้อกังวลว่าการขยายผลให้ครบ 50 เขต ภายใน 5 ปี จะนานเกินไปหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  เป็นเรื่องไม่น่ากังวล เพราะหัวใจของ “ดิจิทัล” คือขยายผลได้ง่าย หากเราทำต้นแบบสำเร็จ การจะขยายผลไปจนครบ 50 เขต ก็จะสามารถทำได้ภายในระยะเวลาไม่นาน ฉะนั้น ต้องทำต้นแบบให้มีประสิทธิภาพก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าต้นแบบที่ทำนั้นสำเร็จและปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นเรามีระบบ Sandbox ของโรงเรียนอยู่ ก็จะนำมาเชื่อมโยงกัน เพราะอนาคตเด็กในกลุ่มเปราะบางจะต้องส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพม. กล่าวว่า  พม. รับดูแลคนทุกช่วงวัย ในวันนี้เราคุยกันเรื่องเด็ก ซึ่งต้องขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร DGA สสส. และ สวน. ที่ร่วมกันให้ข้อมูลและนำดิจิทัลเข้ามาใช้จนเกิดเป็นแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ที่สามารถเชื่อมระบบการจัดการของเขตเข้ากับระบบของพม. โดยในส่วนของพม.จะมีระบบที่เรียกว่า CPIS (Child Protection Information System) หรือระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก เพื่อเชื่อมให้เด็กถูกเติมเต็มอย่างแท้จริงด้วยการใช้ดิจิทัลเข้าไปดูภาวะครอบครัวและประเมินใน 4 มิติ ได้แก่ การเรียนรู้ อาชีพ สุขภาพ และด้านสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะแก้ปัญหา ทั้งนี้ แพลตฟอร์มเติมเต็มเป็นการเข้ามาลดช่องว่าง ลดเวลาการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสของเด็กเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เราได้ประชากรที่ดีของสังคมในอนาคต

ปลัดกระทรวง พม. กล่าวต่อไปว่า  สำหรับในภาพรวมประเทศ ระบบ CPIS ในกรุงเทพมหานครอาจจะเริ่มเพียงไม่กี่หน่วย แต่ระบบ CPIS ในต่างจังหวัดได้มีการคัดกรองเด็กออกเป็นเขียว เหลือง แดง เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กที่มีความเสี่ยงในมิติครอบครัวและมิติความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็ก นอกจากนี้ยังมีระบบสมุดพกอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีข้อมูลรายงานการช่วยเหลือ ปัญหา และบุคคลในครอบครัว บรรจุไว้ประมาณ 700,000 ครอบครัว ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายผลเชื่อมกับกรุงเทพมหานครด้วย 

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่า  DGA เป็นหน่วยงานกลางที่พัฒนาเรื่องระบบเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล บทบาทของ DGA ในความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการเข้ามารับทราบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวเปราะบาง และร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนวัตกรรมมาพัฒนาเป็นระบบในลักษณะ Bottom Up คือ แก้ปัญหาจากคนหน้างานให้ได้รับประสิทธิผลก่อน จากนั้นนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากกรณีต่าง ๆ ไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ พม. และกรุงเทพมหานคร นำไปใช้สำหรับการวางแผนเรื่องทรัพยากรในการพัฒนาครอบครัวเปราะบางต่อไป เป็นการบูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงานแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะทำให้นักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถแบ่งปันและวางแผนร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนและให้การช่วยเหลือแบบรอบด้านได้

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า  ความยากในการทำงานในเรื่องของเด็ก คือ การทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกับตัวเด็ก เด็กเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมาย แต่ลักษณะการทำงานจะต้องทำงานรอบ ๆ ตัวเด็ก ซึ่งทำให้มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องมากมาย แพลตฟอร์มเติมเต็มจึงเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อทำให้การบูรณาการแก้ไขปัญหาของเด็กเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้อำนวยการ DGA กล่าวอีกว่า  การที่เราเริ่มดำเนินการที่ลาดกระบัง ถือว่าเป็น Sanbox ส่วนในลำดับต่อไปจะเป็นการทำ Pilot คือขยายพื้นที่ให้มากขึ้นดูว่าปัญหาแต่ละเขตแตกต่างกันหรือไม่ หากแตกต่างกันก็จะต้องมีการปรับปรุงตัวระบบเพื่อให้ตอบรับและใช้งานได้ดียิ่งขึ้น จากนั้นจึงจะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และหากประสบผลสำเร็จในกรุงเทพมหานครแล้วก็สามารถขยายผลไปใช้ทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้ แพลตฟอร์มเติมเต็มมีหลักในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกัน มองเห็นปัญหาแบบองค์รวม และเสนอวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อทำให้ชีวิตของประชาชนได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตก็อาจจะสามารถขยายผลไปด้านอื่น ๆ ได้โดยไม่ยาก

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า  ตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่ทำสำเร็จและเปลี่ยนวิธีการทำงานของระบบราชการ คือ Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนกว่า 300,000 เรื่อง ทุกเรื่องสามารถเห็นได้โดยไม่ตกหล่น และติดตามได้ว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขอย่างไร ฉะนั้น แพลตฟอร์มเติมเต็มนี้อนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องเด็กและเยาวชน แต่จะสามารถขยายผลไปยังเรื่องอื่น ๆ เช่น คนพิการ คนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน