In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลุยที่เขตลาดกระบังกระตุ้นงาน สวน15นาที/จัดระเบียบผู้ค้า/เก็บภาษี

กรุงเทพฯ-เช็กระบบภาษี BMA-TAX ติดตามงานทะเบียนจุด BFC ตรวจแยกขยะเขตลาดกระบัง ส่องสวน 15 นาที ถนนสุวรรณภูมิ 4 ลุยตรวจหม้อไอน้ำ (Boiler) โรงงานทอผ้างามดี ชูต้นแบบไม่เทรวมหมู่บ้านกลางเมือง ผุด Hawker Center ตลาดเย็นวิลล่า จัดระเบียบผู้ค้าหน้าหมู่บ้านพูนสินธานี 1
(8 มิ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตลาดกระบัง ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูล การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 90,561 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 68,732 แห่ง ห้องชุด 31,992 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 191,285 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ต่อมารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตลาดกระบัง โดยได้สอบถามถึงจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการทำบัตรประจำตัวประชาชน และงานทะเบียนราษฎร ระยะเวลารอคิว ระยะเวลาให้บริการ ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า รวมถึงสอบถามถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่มาติดต่อราชการ
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตลาดกระบัง มีข้าราชการและบุคลากร 220 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย โดยประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการและบุคลากรคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนนำไปทิ้ง ส่วนเศษอาหารจะนำไปทำปุ๋ยและเลี้ยงสัตว์ สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 4,320 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,194 กิโลกรัม/เดือน คัดแยกออก 2,126 กิโลกรัม/เดือน ดังนี้ ขยะอินทรีย์คัดแยกออก 1,360 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลคัดแยกออก 750 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายคัดแยกออก 16 กิโลกรัม/เดือน (ข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2566)
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณแยกสมานมิตร ถนนสุวรรณภูมิ 4 ในพื้นที่เขตฯ มีสวนสาธารณะ จำนวน 9 แห่ง เป็นสวนเดิมดำเนินการปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขภาพร่มเกล้า 1 พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา 2.สวนสุขภาพร่มเกล้า 2 พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา และ 3.สวนศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ (โคก หนอง นา) พื้นที่ 3 งาน 66 ตารางวา สวนใหม่ ดำเนินการจัดทำเป็นสวน 15 นาทีแล้วเสร็จ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมแยกเข้าถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา 2.สวนหย่อมแยกเข้าถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า พื้นที่ 2 งาน 10 ตารางวา 3.สวนจุดพักรถลาดกระบัง พื้นที่ 2 งาน 4.สวนหย่อมหน้าร้านกาแฟอินทนิลปั๊มบางจาก พื้นที่ 60 ตารางวา และ 5.บริเวณริมถนนเจ้าคุณทหารข้างปั๊มเซลล์ ถึงแยกถนนร่มเกล้า ระยะทาง 250 เมตร พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร โดยจัดทำเป็นสวนทุ่งทองอุไรเจ้าคุณทหาร ปลูกต้นพุทธรักษา 1,250 ต้น ปลูกต้นทองอุไร 500 ต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ บริเวณแยกสมานมิตร ถนนทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ 4 ระยะทาง 700 เมตร พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน โดยจัดรูปแบบเป็น 3 สวน ได้แก่ สวนกิจกรรม จุดเปลี่ยนเส้นทางคมนาคม ใช้สำหรับรองรับผู้คนที่รอรถประจำทาง สวนมุมมอง จุดที่ไกลจากผู้คน เน้นการออกแบบโดยใช้การสัมผัสทางสายตาเป็นหลัก สวนปลอดภัย พื้นที่ไกลที่สุด ผู้คนสัญจรผ่านน้อย ออกแบบโดยคำนึงถึงความโปร่ง และความปลอดภัยเป็นสำคัญ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท งามดี จำกัด ซอยลาดกระบัง 1ก/7 ถนนลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการทอผ้า มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยใช้ชีวมวลจากขี้เลื่อยเป็นเชื้อเพลิง มีระบบบำบัดมลพิษอากาศก่อนปล่อยไอเสียออกจากปล่อง นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะโครงการไม่เทรวม หมู่บ้านกลางเมือง ซอยลาดกระบัง 1ก/18 ถนนลาดกระบัง พื้นที่ 32 ไร่ ประชากร 700 คน บ้านเรือน 338 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 จำนวน 39 หลังคาเรือน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกบ้านคัดแยกและใส่ถุงมาตั้งไว้หน้าบ้าน เขตฯ จัดเก็บทุกวันอังคารกับวันศุกร์ 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้ทุกบ้านคัดแยกและใส่ถุงมาตั้งไว้หน้าบ้าน เขตฯ จัดเก็บทุกวันเสาร์ 3.ขยะทั่วไป ประชาสัมพันธ์ให้ทุกบ้านนำมาทิ้งในถังหน้าบ้าน เขตฯ จัดเก็บทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี 4.ขยะอันตราย ประชาสัมพันธ์ให้ทุกบ้านคัดแยกและนำมาไว้ที่จุดรวมของนิติของหมู่บ้าน เขตฯ จัดเก็บทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 6,400 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5,991 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 160 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 240 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 9 กิโลกรัม/เดือน
เปิดพื้นที่ Hawker Center บริเวณตลาดเย็นวิลล่า ถนนเลียบคลองลำกอไผ่ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 27 ราย ซึ่งเขตฯ ได้พิจารณาพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
จากนั้นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าหมู่บ้านพูนสินธานี 1 ถึงปากซอยเคหะร่มเกล้า 64 เดิมเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 200 ราย ได้แก่ 1.ซอยลาดกระบัง 52 ผู้ค้า 8 ราย 2.ซอยลาดกระบัง 46/4 ผู้ค้า 8 ราย 3.ซอยลาดกระบัง 14/1 ผู้ค้า 14 ราย 4.ซอยฉลองกรุง 1 ผู้ค้า 7 ราย 5.ทางเข้าเคหะร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 6.หน้าแฟลต 25 ผู้ค้า 13 ราย 7.ซอยเคหะร่มเกล้า 37 ผู้ค้า 17 ราย 8.หน้าหมู่บ้านพูนสินธานี 1 ผู้ค้า 32 ราย 9.ตลาด 24 ผู้ค้า 18 ราย 10.ข้างตลาดกลางร่มเกล้า ผู้ค้า 9 ราย 11.ข้างสวน 60 พรรษา ร่มเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 12.ปากซอยร่มเกล้า 19/1 ผู้ค้า 9 ราย 13.สวนวนาภิรมย์ ร่มเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 14.ตลาดเย็นวิลล่า ผู้ค้า 27 ราย 15.แยกนิคมนำไกร ผู้ค้า 19 ราย ต่อมาเขตฯ ได้ย้ายผู้ค้า จุดที่ 5 ทางเข้าเคหะร่มเกล้า จุดที่ 11 ข้างสวน 60 พรรษา ร่มเกล้า และจุดที่ 12 ปากซอยร่มเกล้า 19/1 ให้เข้ามาทำการค้าในพื้นที่เอกชน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่กีดขวางทางเท้า ปัจจุบันเขตฯ คงเหลือพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 12 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 179 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าในจุดอื่นๆ ไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า พร้อมทั้งพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เพื่อให้ผู้ค้ามาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงหาแนวทางย้ายผู้ค้าในเข้ามาทำการค้าในพื้นที่เอกชน หรือพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตลาดกระบัง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล