Travel Sport & Soft Power
อดีตตำรวจเพาะนกยูงด่างสร้างรายได้หลังวัยเกษียณ
ราชบุรี-ฟาร์มเลี้ยง นกยูงลายด่าง ของ ร.ต.อ.รุ่งโรจน์ มัตสยะวนิชกูล อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการตำรวจ สร้างรายได้หลังวัยเกษียณ
วันที่ 10 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ ฟาร์มเลี้ยง นกยูงลายด่าง ของ ร.ต.อ.รุ่งโรจน์ มัตสยะวนิชกูล อายุ 62 ปี อดีตข้าราชการตำรวจ ชาว ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยจุดเด่นมีลักษณะสีขาวสลับเขียวและน้ำเงิน บริเวณลำคอที่มีลักษณะพิเศษเหมือนสีของท้องฟ้าคล้ายปุยเมฆ ซึ่งเป็นจุดเด่นเฉพาะที่ทาง ร.ต.อ.รุ่งโรจน์ ได้ตั้งใจเพาะพันธุ์ขึ้น เพื่อเป็นรายได้หลังวัยเกษียณอายุราชการ นอกจากนั้นยังมีนกยูงอีกหลายสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ไทย, อินเดีย, ลูกผสมไทยอินเดีย และนกยูงเผือก
ร.ต.อ.รุ่งโรจน์ เปิดเผยว่า ด้วยความชื่นชอบและหลงเสน่ห์ในความสวยและสง่างามของนกยูงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก กระทั่งเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ตนได้มีโอกาสไปศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงนกยูงจากฟาร์มของคนรู้จัก ทำให้ได้รู้ว่านกยูงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดมีความต้องการสูง ตนจึงตัดสินใจซื้อลูกนกยูงสายพันธุ์อินเดีย อายุประมาณ 6 เดือน มาทดลองเลี้ยงจำนวน 1 คู่ ในช่วงแรกที่คิดทำเป็นงานอดิเรก ต่อมาได้มีการซื้อนกยูงสายพันธุ์อื่นๆ เพิ่มเข้ามา และมีลูกพันธุ์ขยายมากขึ้น จนสุดท้ายกลายเป็นอาชีพเสริม
สำหรับสายพันธุ์ที่ตนเพาะเลี้ยงประกอบด้วย “นกยูงเขียว” หรือ “นกยูงไทย” จะมีลักษณะที่บริเวณแก้มจะมีสีเหลือง หงอนรูปพู่กันจีน ปีกสีเขียวแมลงทับ ที่แข้งจะเป็นสีดำ ส่วน “นกยูงอินเดีย” หรือ “นกยูงฟ้า” บริเวณแก้มจะเป็นสีขาว หงอนรูปพัดจีน ปีกลาย ที่แข้งจะเป็นสีขาว และ “นกยูงสีขาว” หรือ “นกยูงเผือก” ซึ่งจะมีสีขาวตลอดทั้งตัว
นอกจากนั้น ตนได้นำพ่อแม่พันธุ์นกยูงทั้ง 3 สายพันธุ์มาผสมไขว้กันจนได้ออกมาเป็น “นกยูงด่าง” ที่มีสีสันและลวดลายที่แปลกตา คล้ายภาพวาดธรรมชาติที่สวยงาม ในส่วนของการเลี้ยงนกยูงก็ไม่ได้ยุ่งยาก หรือสลับซันซ้อนอะไร เพียงเลี้ยงด้วยอาหารไก่ และเมล็ดข้าวโพด วันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า และเนื่องจากนกยูงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงโดยธรรมชาติของสัตว์ป่า ประกอบกับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ตลอดระยะเวลาที่เลี้ยงมากว่า 20 ปี นกยูงที่ตนเลี้ยงจึงไม่เคยได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในสัตว์เลย
ด้านการเพาะขยายพันธุ์ นกยูงจะออกลูกแค่ปีละครั้งเท่านั้น เริ่มผสมพันธุ์ประมาณกลางเดือนมกราคม – เมษายน แล้วจะมาออกไข่ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนก็จะฟักออกมาเป็นตัว ซึ่งทางฟาร์มจะมีการเพาะพันธุ์ 2 รูปแบบ คือ เพาะแบบธรรมชาติ ด้วยการให้แม่พันธุ์กกไข่เองในกรง และแบบกกไข่ในตู้อบ โดยอัตราการเพาะในตู้อบ จะได้ลูกนกยูงมากกว่าแบบธรรมชาติ 2 เท่าตัว
ปัจจุบัน ลูกค้าจะมีทั้งในส่วนของกลุ่มที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สถานที่ท่องเที่ยว และวัด ที่มักนิยมซื้อหานำไปเลี้ยงประดับตกแต่ง เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยว รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงนกยูงตามความเชื่อในเรื่องของการเสริมบารมี และกลุ่มผู้ที่สนใจเลี้ยงนกยูงเป็นอาชีพ โดยราคาจำหน่ายจะอยู่ระหว่างคู่ละ 3,000 – 10,000 บาท แล้วแต่อายุของนกยูง
นอกจากนั้น ตนยังเปิดสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะพันธุ์นกยูง ให้กับสถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ และผู้ที่สนใจ โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เพจเฟสบุ๊ค “บิ๊กฮง มัตสยะวนิชกูล” หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 0814332244
สุจินต์ นฤภัย / ราชบุรี