In Bangkok

รัฐฯ-กทม.ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายเปิดตัว หาชุมชนริมคลองต้นแบบชิงกว่า2แสน



กรุงเทพฯ-รัฐบาล - กทม. ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย เปิดตัว “โครงการคลองเปรมประชากร หน้าบ้าน ริมคลอง น่ามอง น่าอยู่” เฟ้นหาชุมชนริมคลองต้นแบบ ชิงรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท

(10 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “โครงการคลองเปรมประชากร หน้าบ้าน ริมคลอง น่ามอง น่าอยู่” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนริมคลองสายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เขตจตุจักร ในการนี้ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ร่วมพิธีและร่วมกิจกรรม

คลองเปรมประชากรในอดีตมีความสำคัญทั้งการเป็นเส้นทางคมนาคม และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนรุกล้ำเข้าไปในคลองเปรมฯ คลองสายนี้จึงได้กลายเป็นแหล่งรับน้ำทิ้งโดยตรงจากบ้านเรือนที่รุกล้ำ รวมไปถึงขยะมูลฝอย ส่งผลให้น้ำในคลองสกปรกและคลองมีความตื้นเขิน เมื่อเกิดฝนตกหนักก็ทำให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมา ดังนั้น รัฐบาลจึงร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ โดยขอความร่วมมือประชาชนที่มีบ้านเรือนรุกล้ำคลองให้มาเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งก็คือการขอให้ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ในพื้นที่บนบกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง  

ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนริมคลองบางส่วนได้ให้ความร่วมมือในการย้ายจากบ้านเดิมมาอยู่บ้านใหม่ที่เรียกว่า “บ้านมั่นคง” ส่งผลให้กทม.สามารถสร้างเขื่อนริมคลองในบริเวณนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเจรจาขอให้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เพื่อให้การสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรเสร็จสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและเพื่อให้การพัฒนาคุณภาพน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ ในระยะยาว โดยคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับที่ได้รับจากชาวชุมชนประชาร่วมใจ 1 การพัฒนาคลองเปรมประชากรนี้นอกจากจะดำเนินการในด้านกายภาพแล้ว กทม.ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไปด้วย และนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนได้มาร่วมกับ กทม. จัดทำโครงการคลองเปรมประชากร หน้าบ้าน ริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ เพราะโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชนต่อไป

สำหรับโครงการคลองเปรมประชากร หน้าบ้าน ริมคลอง น่ามอง น่าอยู่ เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ กรมประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น คือ สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ ระยะกลาง คือ พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง และระยะยาว คือ ขยายผลชุมชนน่าอยู่ ชุมชนเข้มแข็ง ไปทุกชุมชนริมคลองเปรมประชากร

ทั้งนี้ เฉพาะการดำเนินการในระยะสั้น จะเป็นการให้ความรู้แก่ชุมชนในการพัฒนาสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนและชุมชน มีการนำร่อง 3 ชุมชน คือ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร และชุมชนวัดรังสิต จ.ปทุมธานี รวมบ้านเรือนทั้งสิ้น 693 หลัง โดยจัดให้มีการประกวดชุมชนที่มีการพัฒนาดีเด่น แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.ระดับ Cluster หรือกลุ่มบ้านย่อย ๆ ในชุมชน จำนวน 30 Cluster (รางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล : 1 รางวัล/ชุมชน) และ 2.ระดับชุมชน จำนวน 3 ชุมชน (รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล)

ในการนี้ ภาคเอกชนได้ร่วมกันสนับสนุนรางวัลในการประกวดครั้งนี้ มูลค่ารวม 240,000 บาท ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่เป็นกรรมการ ผลการตัดสินจะประกาศในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรมว่า  การจะพัฒนากรุงเทพมหานครให้น่าอยู่ต้องเริ่มจากหน่วยย่อยก็คือชุมชน “โครงการคลองเปรมประชากร หน้าบ้าน ริมคลอง น่ามอง น่าอยู่” เป็นโครงการที่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาในระยะสั้น ได้มีการจัดแข่งขันใน 3 ชุมชนนำร่อง และมีรางวัลให้แก่ชุมชนที่ชนะ ซึ่งเป็นเหมือนการจุดประกาย อย่างไรก็ตาม หากทุกคนดูแลหน้าบ้านตัวเองให้ดีเมืองจะสวยเอง 

ส่วนในระยะกลาง จะเป็นการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ ให้มั่นคง เพราะเมืองคือตลาดแรงงาน คนจะอยู่ในเมืองได้ก็ต้องมีงานทำ ต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งในส่วนกทม.นั้น มีโรงเรียนฝึกอาชีพ อีกทั้งยังมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาช่วยกัน จะเห็นได้ว่างานวันนี้ไม่ได้มีเฉพาะกทม. แต่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่ง เพราะสุดท้ายแล้ว การจะให้เมืองขับเคลื่อนได้ ต้องเป็นการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนโดยทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน 

ด้านการพัฒนาในระยะยาว ต้องให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ชุมชนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การนำเงินมาสนับสนุน แต่เป็นการสนับสนุนให้เขามีงาน มีอาชีพ เด็ก ๆ มีความรู้ มีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งเป็นการตัดวงจรของความเหลื่อมล้ำ และทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน 

“บ้านมั่นคง เป็นตัวอย่างที่ดี ในการแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนรุกล้ำอยู่ในคลอง โดยโครงการรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการนำชาวบ้านขึ้นจากคลองมาสู่บ้านมั่นคง ซึ่งทำให้เกิดความมั่นคงต่ออนาคตของลูกหลาน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป ชุมชนและสังคมมีความเข้มแข็งขึ้น อยู่กันอย่างมีความสุข ทั้งนี้ ต้องมีการขยายผลต่อ เรายังมีอีกหลายชุมชนที่ต้องการการพัฒนาให้เป็นรูปแบบนี้ ทางกทม.จะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการนำพี่น้องประชาชนของเราสู่ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และความมั่นคงในชีวิตต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า  โครงการนี้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในหลายมิติ เรื่องแรกคือที่อยู่อาศัย ถ้าประชาชนมีบ้านที่มั่นคงไม่ต้องมา อยู่แบบผิดกฎหมายหรือรุกล้ำพื้นที่ เด็กในชุมชนก็จะมีอนาคตที่มั่นคงมากขึ้น อาชีพการงานของคนในชุมชนก็จะมั่นคงมากขึ้น เพราะเมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้

ผลพลอยได้คือเรื่องน้ำท่วม เพราะคลองเปรมประชากรเป็นคลองหลักที่จะระบายน้ำของเขตดอนเมือง หลักสี่ จตุจักร ซึ่งน้ำจะไหลไปออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หากมีบ้านรุกล้ำอยู่การขุดลอกคูคลองจะทำได้ยาก แต่เมื่อนำบ้านขึ้นมาเป็นบ้านมั่นคงก็สามารถทำเขื่อนได้ และเมื่อมีเขื่อนแล้วก็สามารถขุดให้ลึกลงไปได้ เป็นการเพิ่มความจุให้มากขึ้น ทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น โอกาสที่น้ำจะท่วมก็จะลดลง เช่นเดียวกับคลองลาดพร้าว ถ้าชุมชนขึ้นมาเป็นบ้านมั่นคงได้ทั้งหมด ทำเขื่อนได้ทั้งหมด ก็จะทำให้ขุดลอกได้เร็ว ซึ่งหากเป็นแบบนี้ทุกคลอง น้ำก็จะไม่ท่วม

นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว ยังทำให้คลองมีความสะอาด ในส่วนของบ้านเรือนประชาชน พอขึ้นมาอยู่บนบ้านมั่นคง การเก็บขยะก็จะเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน น้ำเสียที่ปล่อยออกมาก็จะมีบ่อบำบัด ไม่ใช่การปล่อยตรงลงสู่คลอง ฉะนั้น เรื่องน้ำเสียก็จะดีขึ้นด้วย ทำให้เมืองสวยอย่างชัดเจน แล้วต่อไปจะเป็นเส้นทางสัญจร เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ก็จะมีมิติของเศรษฐกิจเพิ่มอีกด้วย

“การจัดการเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เราเห็นว่าเพื่อน ๆ เราที่อยู่บ้านมั่นคงมีความสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยหลักคิดคือการนำกรณีที่สำเร็จแล้วมาเป็นตัวอย่างให้เขาเข้าใจ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจ อย่าไปให้ข้อมูลที่ผิด อย่างเช่นเรื่องเงินเวนคืน เพราะทุกอย่างต้องเท่าเทียมกัน เบื้องต้นอาจจะมีบางคนที่ต้องเสียผลประโยชน์ไปบ้าง เช่นคนที่มีบ้านหลายหลังให้เช่า เพราะจะได้สิทธิ์เพียง 1 คน 1 สิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ โดยหน้าที่ของกทม.ก็ต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น นำตัวอย่างที่สำเร็จแล้วซึ่งทุกคนมีความสุขที่ได้อยู่บ้านมั่นคงมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้าย