In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติขอรัฐบาลใหม่ทบทวนวิธีการ คำนวณการเสียภาษีที่ดินฯในกทม.ใหม่



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติขอรัฐบาลใหม่ทบทวนวิธีการคำนวณการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกทม. พร้อมเร่งประสานความร่วมมือคืนทางเท้าตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู

(10 มิ.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม “ผู้ว่า กทม. สัญจร เขตหลักสี่” เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบาย ติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน (Traffy Fondue) และปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการสัญจรครั้งที่ 29 เขตหลักสี่ เขตนี้นั้นกึ่งเขตชานเมืองและเขตชั้นในมีพื้นที่ประมาณ 21 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 100,000 คน ปัญหาใหญ่ของเขตหลักสี่ที่พบเจอคือเรื่องคมนาคม ปัจจุบันเขตหลักสี่มีถนนหลัก 4 เส้น ได้แก่ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนกำแพงเพชร และถนนงามวงศ์วาน แต่ทั้ง 4 เส้นนี้มีเพียงถนนงามวงศ์วานเพียงเส้นเดียวที่กรุงเทพมหานครดูแล ที่เหลือเป็นของกรมทางหลวง เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาเช่นการก่อสร้าง กทม.เข้าไปกำกับดูแลได้ค่อนข้างยาก ขณะนี้จะเห็นว่าถนนที่มีการจราจรติดขัดหนัก คือ ถนนแจ้งวัฒนะไปถึงรามอินทราเนื่องจากมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งทั้งถนนและรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทางหลวงและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าจึงเกิดการขุดประปา สายไฟ ทำให้ทางเดินเท้าใช้งานไม่ได้ ทำให้ประชาชนร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางกทม.ได้ยื่นปัญหาเรื่องนี้ให้กับพรรคก้าวไกลเมื่อครั้งที่ได้หารือกันที่ผ่านมาเพื่อเน้นการประสานงานระหว่างหน่วยงานกันมากขึ้น เพราะการจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตบางเรื่องก็อยู่นอกอำนาจของกทม. สำหรับเมื่อวานนี้ได้เชิญรองผู้ว่าฯ รฟม. และรองอธิบดีกรมทางหลวงร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในภาพรวมของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู จุดที่ 1 Big C Supercenter แจ้งวัฒนะ (เยื้องศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ) และจุดที่ 2 บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ถึงวงเวียนบางเขน เขตบางเขน เพื่อรับทราบถึงแผนการคืนสภาพผิวจราจร ทางเท้า การระบายน้ำ ตลอดเส้นทางการก่อสร้างพร้อมรับฟังปัญหาที่กระทบต่อประชาชนและแนวทางแก้ไข เช่นเดียวกับข่าวเมื่อวานนี้กรณีถนนรามอินทรา เขตคันนายาว ทรุดลึก 1 เมตร ถนนดังกล่าวก็อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง บ่อที่ทรุดเป็นของการไฟฟ้านครหลวงที่ได้มีการมาก่อสร้างบนถนนกรมทางหลวง ฉะนั้นในอนาคตต้องทำให้ความร่วมมือเข้มข้นและเข้มแข็งขึ้น โดยที่กทม.จะเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา 

ปัญหาต่อมาคือน้ำท่วมในพื้นที่ ในเขตหลักสี่คลองระบายน้ำหลักคือคลองเปรมประชากร ซึ่งคลองเปรมประชากรเรามีโครงการสร้างเขื่อนและย้ายชุมชมที่อยู่ริมคลอง ปัจจุบันมีประชาชนที่ยังไม่ได้ย้ายประมาณ 1,600 หลังคาเรือน เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังไม่เห็นด้วยในหลักการ จึงทำให้การสร้างเขื่อนเกิดความล่าช้าและทำให้การขุดลอกคลองเปรมประชากรเป็นไปได้ยากเพราะมีบ้านเรือนประชาชนรุกล้ำอยู่ หากเข้าไปทำการขุดลอกคูคลองอาจจะทำให้บ้านทรุดตัวได้ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังการระบายน้ำซึ่งเป็นเรื่องที่กทม.ต้องเร่งดำเนินการ

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โดยภาพรวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกทม. การเก็บภาษีอาจจะได้เพิ่มขึ้นจากภาษีโรงเรือน แต่การเพิ่มขึ้นนั้นที่มาของรายได้อาจจะแตกต่างกัน เช่น แต่ก่อนผู้ประกอบการธุรกิจจ่ายภาษีโรงเรือนเยอะแต่ปัจจุบันกลายเป็นคนที่มีที่ดินจึงจ่ายภาษีมากกว่า จากการประเมินปี 2565 และ 2566 กระทรวงการคลังได้มีการปรับเกณฑ์ ตัวเลขที่น่าสนใจคือเจ้าของที่ดินที่กทม.เก็บภาษีมากที่สุดในเขตหลักสี่ คือ ศูนย์ราชการ ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เนื่องจากได้มีการพัฒนาดำเนินการในเชิงพาณิชย์ทำให้กทม.ต้องเก็บภาษี ในปี 2565 ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์เป็นศูนย์ราชการที่ต้องเสียภาษีตามปกติ กระทรวงการคลังได้มีการประเมินภาษีว่าธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ต้องเสียภาษีให้แก่กทม. 56 ล้านบาท แต่ปี 2566 เหลือเพียง 25 ล้านบาท ขณะที่ที่ดินแปลงอื่นที่มีขนาดเล็กราคาประเมินเสียภาษีกลับเพิ่มขึ้น ที่ดินขนาดใหญ่กลับเสียภาษีน้อยลงทั้งที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกัน นี่เป็นสิ่งที่ต้องฝากรัฐบาลใหม่ให้ช่วยทบทวนวิธีการคำนวณการเสียภาษีเป็นอย่างไร เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่สำคัญของท้องถิ่น สำหรับการเก็บภาษีของเขตหลักสี่ปีนี้คาดว่าจะเก็บได้ประมาณ 290 ล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับภาษีโรงเรือน 

สำหรับภาพรวมเขตหลักสี่เป็นเขตที่มีการขยายตัวมากขึ้น ประชาชนอยู่ในพื้นที่มากขึ้น แผนการพัฒนาสวน 15 นาทีก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งทั้งพื้นที่เขตควรจะมี 8 สวน ขณะนี้แล้วเสร็จ 1 สวน กำลังดำเนินการอีก 3 สวน และจะขยายเพิ่มต่อไปในอนาคต เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ออกกำลังกายให้กับประชาชนมากขึ้น การปลูกต้นไม้เขตหลักสี่ปลูกไปกว่า 10,000 ต้น แต่ยังคงต้องเน้นการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น

การเตรียมความพร้อมการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 6 หน่วยเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 11 มิ.ย. 66

เรื่องนี้ไม่ได้มีความกังวลใด พร้อมดำเนินการตามแนวทางที่กกต.กำหนด อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัติการ แต่ในมิติว่าเกิดเหตุนี้ได้อย่างไรคงต้องมีการสรุปอีกครั้ง ที่ผ่านมาเราทำได้ค่อนข้างดี เช่น กล้อง CCTV ยังคงมีการเก็บข้อมูลอยู่กรณีที่ต้องมีการนับคะแนนใหม่ จะเห็นว่าหัวใจหลักของการเลือกตั้งคือการสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน หากประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความมั่นใจมากขึ้น 

สำหรับช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ ชัชชาติและคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมสวนเกษตรดาดฟ้าและร่วมกิจกรรมสาธิตย้ายต้นกล้าผักลงแปลงปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงสาธิต การทำน้ำหมักชีวภาพจากเปลือกผลไม้ หลังจากนั้นลงพื้นที่ 5 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมชมรมผู้สูงอายุเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง ศูนย์สาธารณสุข 53 สวนสาธารณะทุ่งสองห้อง และชุมชนโดยรอบ จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซอยแจ้งวัฒนะ 14 และตรวจเยี่ยมบ้านหนังสือเมืองทองนิเวศน์ 1 จุดที่ 3 ติดตามการตัดราวสะพานด้านหลังสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ชุมชนตลาดหลักสี่ จุดที่ 4 ติดตามความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ โครงการ ข.ไข่ ข.ขวด ชุมชนพัชราภา และจุดที่ 5 ตรวจสอบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตหลักสี่ บริเวณซอยพหลโยธิน 49/1