In Bangkok

'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่มีนบุรีตรวจคัดแยกขยะ จัดเก็บรายได้-ค่าฝุ่นจิ๋ว-สวน15นาที



กรุงเทพฯ-ติดตามระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ ตรวจคัดแยกขยะเขตมีนบุรี คุมเข้มค่าฝุ่นไซต์งานย่านถนนสีหบุรานุกิจ ชมคัดแยกขยะโลตัสมีนบุรี สำรวจสวน 15 นาที บึงขวาง 12 และสุวินทวงศ์ 18-1 เล็งเปิด Hawker Center หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง 

(12 มิ.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 62,463 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 52,392 แห่ง ห้องชุด 10,497 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 125,352 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ เขตมีนบุรี มีข้าราชการและบุคลากร 884 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดอบรมการคัดแยกขยะให้กับข้าราชการและบุคลากรภายในเขตฯ สร้างความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะต้นทาง มีการคัดแยกขยะทั่วไป และขยะเศษอาหาร โดยนำขยะเศษอาหารรวบรวมไว้ที่ถังหมักขยะ เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อแจกจ่ายประชาชน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการมารับขยะเศษอาหารที่ได้จากโรงอาหาร เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะรีไซเคิล มีสหกรณ์ขยะรีไซเคิล เพื่อคัดแยกขยะนำไปจำหน่าย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะเศษอาหาร (นำไปเลี้ยงสัตว์) หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ (ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ) หลังคัดแยก 228 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (กระดาษ) หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (พลาสติก) หลังคัดแยก 36 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะ 2 ครั้ง/สัปดาห์

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขามีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ วิธีการคัดแยกขยะ มีการคัดแยกขยะเปียก(เศษอาหาร) ขยะแห้ง (ขยะทั่วไป) ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัย) ซึ่งทางห้างฯ มีการคัดแยกขยะรีไซเคิล ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวด กระดาษ โดยมีระบบการอัดรวมขยะ และนำขยะที่ได้ส่งไปยังสำนักงานใหญ่ เพื่อรวบรวมนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะเปียก (เศษอาหาร) บางส่วนมีเกษตรกรในพื้นที่รับไปเป็นอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ทางห้างฯ ร่วมกับบริษัท Coca-Cola, Indorama, shell, Trash lucky ตั้งจุดรับขยะรีไซเคิล เพื่อแลกรางวัลบริเวณหน้าห้างฯ เพื่อให้ประชาชนร่วมแยกขยะและส่งขยะรีไซเคิลในจุดรับขยะที่เตรียมไว้ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะเศษอาหาร (นำไปเลี้ยงสัตว์) หลังคัดแยก 85 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล (กล่องเครื่องดื่ม) หลังคัดแยก 18,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย ก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไป ก่อนคัดแยก 280,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 240,000 กิโลกรัม/เดือน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บขยะทุกวัน 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ไวส์ เอสเตท จำกัด ถนนสีหบุรานุกิจ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 32 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณซอยบึงขวาง 12 ถนนบึงขวาง พื้นที่ 13 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของเอกชน อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่เป็นระยะเวลา 8 ปี รวมถึงขอสนับสนุนเครื่องจักรกลจากสำนักสิ่งแวดล้อม และขอสนับสนุนบริจาคพันธุ์กล้าไม้จากทุกภาคส่วน ส่วนรูปแบบสวนบริเวณตรงกลางจะเป็นบ่อน้ำ จัดทำทางเดินวิ่งโดยรอบ จากนั้นสำรวจสวน 15 นาที บริเวณซอยสุวินทวงศ์ 18-1 ถนนสุวินทวงศ์ พื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งเจ้าของที่ดินได้บริจาคให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับเขตฯ มีแนวคิดพัฒนาเป็นสวนแห่งใหม่ในรูปแบบ สวนเชิงนิเวศ เน้นการปลูกต้นไม้ยืนต้น ไม้พื้นถิ่นที่มีความหลากหลาย เสมือนสร้างป่าเชิงนิเวศแห่งใหม่ในพื้นที่เขตมีนบุรี มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติและแปลงเกษตรสาธิตต่างๆ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ และสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกแบบสวน การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ เขตฯ ยังมีสวนสาธารณะเดิมที่ได้พัฒนาและปรับปรุงให้มีความร่มรื่นสวยงาม ได้แก่ สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พื้นที่ 6 ไร่2 งาน 40.94 ตารางวา เป็นที่ราชพัสดุ และสวนสาธารณะจัดทำใหม่ คือสวนมีนบุรีภิรมย์ บริเวณหลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญถึงบกน.3 พื้นที่ 3 ไร่ เป็นที่ว่างสาธารณะ โดยดำเนินการถมดิน ปลูกต้นไม้ ออกแบบสวนสาธารณะและจัดทำทางเดินลู่วิ่ง 

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมโครงการธนาคารต้นไม้ เขตมีนบุรี ซึ่งเขตฯ ได้จัดตั้งขึ้นบริเวณถนนหม่อมเจ้าสง่างามฯ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นของกรุงเทพมหานคร รวมถึงรับบริจาคกล้าไม้และพันธุ์ไม้ต่างๆ จากทุกภาคส่วน ตลอดจนแจกพันธุ์กล้าไม้ฟรี จากการที่ได้รับบริจาคให้กับประชาชนที่สนใจและมีพื้นที่ในการปลูก พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับคณะผู้บริหารเขตมีนบุรีปลูกต้นขนุน บริเวณด้านหน้าโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง 

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนรามคำแหง พร้อมทั้งสอบถามการจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ถนนรามคำแหง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย เขตฯ ไม่มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน มีจำนวน 11 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 117 ราย ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า 5 ราย 2.ถนนนิมิตใหม่ 1 ราย 3.ถนนรามคำแหง 10 ราย 4.ถนนราษฎร์อุทิศ 8 ราย 5.ถนนสามวา 8 ราย 6.ถนนสีหบุรานุกิจ 25 ราย 7.ถนนสุวินทวงศ์ 25 ราย 8.ถนนหทัยราษฎร์ 30 ราย 9.ถนนประชาร่วมใจ 1 ราย 10.ถนนหม่อมเจ้าฯ 3 ราย และ 11.ถนนบึงขวาง 1 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center รวมถึงหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล