Authority & Harm
กรมราชทัณฑ์ร่วมบริษัทไนช์ คอลจำกัด ฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังขายทางโทรศัพท์

กรุงเทพฯ-เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับบริษัท ไนซ์ คอล จำกัด จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการคืนคนดีสู่สังคม โดยการฝึกวิชาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานให้แก่ผู้ต้องขัง ประเภทการขายทางโทรศัพท์ Telesalesภายในเรือนจำ โดยมี นายศรัณย์ เวชสุภาพร และนายนพพล ชูกลิ่น กรรมการบริษัท ไนซ์ คอล จำกัด ร่วมลงนามในครั้งนี้ ร่วมด้วยศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานที่ปรึกษาโครงการคืนคนดีสู่สังคม ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เรือนจำ/ทัณฑสถาน และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว ณ ห้อง learning studio ชั้น 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
นายอายุตม์ฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการคืนคนดีสู่สังคมด้วยการฝึกวิชาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานให้แก่ผู้ต้องขัง นั้น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ด้วยจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าร่วม 29 ที่นั่ง และต่อมา เมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ได้มีการขยายเพิ่มเป็น 76 ที่นั่ง โดยในปีนี้ทางโครงการมีเป้าหมายในการขยายเพิ่มอีก100 ที่นั่ง ไปยังจังหวัดชลบุรีและเชียงใหม่ และจะได้มีการต่อยอดโครงการในปี พ.ศ. 2567 ขยายเพิ่มอีก100 ที่นั่ง โดยมีสมาชิกสมาคมการค้าศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย (Thai Contact Center Association) เข้าร่วมสนับสนุน ซึ่งการบันทึกตกลงความร่วมมือในการคืนคนดีสู่สังคมโดยการฝึกวิชาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานให้แก่ผู้ต้องขังในครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจแก้ไขพฤตินิสัยของผู้ต้องขังให้สามารถมีทักษะในด้านการบริการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้กับผู้ต้องขังขณะต้องโทษ และภายหลังพ้นโทษแล้ว ยังเป็นความร่วมมือกันส่งเสริมทักษะวิชาชีพผู้ต้องขังในการทำงานประเภทต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม สร้างโอกาสในการทำงานให้แก่ผู้ต้องขัง นำไปประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ภายหลังพ้นโทษ
นายอายุตม์ฯ ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง นับเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ การที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม นับเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะทำใหภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือการมีอาชีพ มีรายได้ ป้องกันการหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ สามารถคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน