In Thailand
มะพร้าวขาดคอเสียหายกว่าครึ่ง
ราชบุรี-เอลนีโญพ่นพิษ อากาศร้อนแปรปรวน มะพร้าวขาดคอ ผลร่วงเสียหายกว่าครึ่ง
วันที่ 19 มิ.ย.66 ที่สมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี นายจรัญ เจริญทรัพย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิกและเกษตรกรจำนวนหนึ่งได้มารวมตัวกัน มีการพูดคุยถึงปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับสวนมะพร้าวของเกษตรกรคือ “ปัญหามะพร้าวขาดคอ” อันเป็นผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
นายสมพงษ์ บัวเกิด เกษตรกร เปิดเผยว่า ครอบครัวตนทำอาชีพปลูกมะพร้าวน้ำหอมมาแล้วกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาทางสวนจะมีการบันทึกสถิติของผลผลิตไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิต โดยปัจจุบันพบว่า ในช่วงนี้ปริมาณมะพร้าวที่ออกมามีจำนวนลดลง จากเดิมประมาณ 10 ผลต่อ 1 ทลาย กลับเหลือเพียง 3 – 5 ผล ต่อทลายเท่านั้น และเมื่อสอบถามไปยังเพื่อนเกษตรกรหลายราย ก็พบกับปัญหานี้เช่นกัน จากการพูดคุยทุกคนต่างตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดจากสภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งมีอุณหภูมิสูง และมีลมร้อนมาก อันส่งผลกระทบต่อลูกมะพร้าวที่กำลังออกจั่นได้ประมาณ 1 เดือน ไปจนถึง 3 เดือน เกิดอาการขั้วแห้งที่ ทำให้ผลร่วงหลุดออกจากทลาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อาการมะพร้าวขาดคอ สร้างความเสียหายไปกว่าร้อยละ 50 ของผลผลิตเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยตัวเอง เกษตรกรส่วนใหญ่จึงทำได้ก็แค่เพียงหมั่นรดน้ำ และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นและผล รวมไปถึงการสร้างความชื้นในแปลงเกษตร ด้วยการพ่นน้ำให้เป็นละอองฝอยไปบนยอดมะพร้าว แม้จะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก และยังทำให้มีค่าใช้ที่เพิ่มขึ้นก็ต้องยอม
ด้าน นายจรัญ เจริญทรัพย์ นายกสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในปีนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้มีปริมาณน้ำฝนลดลง ความร้อนมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวมีผลต่อพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งตอนนี้เกษตรกรกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยคาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมจะลดลง กระทบกับยอดการสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ
เบื้องต้น ทางสมาคมได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้มีการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการสร้างความชื้นให้กับแปลง และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่องวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ลดน้องลง วางแผนการใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ไม่ใส่มากหรือน้อยเกินไป เพราะจะไปกระทบต่อต้นทุนการผลิต และให้เกษตรกรหมั่นรับฟังข่าวสารการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา อย่างไรก็ตามทางสมาคมต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขให้กับเกษตรกรโดยด่วน
สุจินต์ นฤภัย / ราชบุรี