Think In Truth
'พิธา'นำ150ส.ส.ก้าวไกลรายงานตัวสภาฯ ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ'คณะราษฏร'
กรุงเทพฯ-พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำ150ส.ส.ก้าวไกลรายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฏร์ ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ยืนยันพร้อมทำงานหนักให้สมความไว้วางใจ ดันกฎหมายก้าวหน้ากว่า 40 ฉบับผ่านสภาฯ มั่นใจสถาบันนิติบัญญัติแก้ปัญหาประชาชนได้
เช้าวันนี้ (27 มิถุนายน) ส.ส.พรรคก้าวไกล 150 คน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ก.ก.) เดินทางมายังอาคารรัฐสภาโดยรถบัส 3 คัน เพื่อรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยพร้อมเพรียงกัน โดย ส.ส. ทุกคนต่างสวมเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการรายงานตัว พิธาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า "การเลือกวันนี้มารายงานตัว เพราะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ส.ส.พรรคก้าวไกลทุกคนในวันนี้ มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้แทนราษฎรให้สมกับที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน"
มีความหลากหลายทั้งจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์
ต่อจากนี้ มีกฎหมายที่ก้าวหน้ารอให้เราผลักดันอยู่จำนวนมากกว่า 40 ฉบับ ครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น การเมือง สิทธิเสรีภาพ ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบบริหารราชการ บริการสาธารณะ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งเรื่องที่เราพยายามผลักดันในสภาฯ ชุดที่แล้วแต่ยังไม่สำเร็จ จะเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน ซึ่งพรรคก้าวไกลมีความมั่นใจว่ากระบวนการนิติบัญญัติต่อจากนี้ จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้จริง
สำหรับ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองฯ จัดทำขึ้นโดยแกนนำคณะราษฎร ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475 มีเนื้อหารวม 39 มาตรา มีการจัดวางโครงสร้างอำนาจไว้ 4 ส่วน และกำหนดให้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล มาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็ถูกยกเลิกไป เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อ 10 ธ.ค. 2475 โดยถือเป็น “รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย” จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการราษฎรตั้งขึ้น แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้
รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แม้ผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ชาวก้าวไกลมองว่า ที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีการฝังอาวุธที่ถูกใช้สืบทอดอำนาจของ คสช. เอาไว้
ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ภายใต้การนำของพรรค ก.ก. กำหนดให้การฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็น “วาระร่วม” ข้อแรกของพวกเขา