Travel Sport & Soft Power
เกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกรามราชบุรีได้เฮหลังได้เป็นสินค้าGIจ่อส่งออกต่างประเทศ
ราชบุรี-หลังจากที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “กุ้งก้ามกรามบางแพ” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้สินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ที่มีคุณภาพหรือมีชื่อเสียงของสินค้าในพื้นที่นั้นๆ เปรียบเสมือนแบรนด์ของท้องถิ่น ที่บอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 29 มิ.ย. 2566 นายชัยรัตน์ ชื่นเจริญ พาณิชย์จังหวัดราชบุรี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ของ นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการปฏิบัติ และหาช่องทางผลักดันเปิดตลาดใหม่ๆ มองไกลไปยังต่างประเทศทั่วโลก
นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เปิดเผยว่า ตนประกอบกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมาแล้วกว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมากุ้งก้ามกรามในพื้นที่ อ.บางแพ โพธาราม และดำเนินสะดวก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากที่สุดของประเทศ อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศของ 3 อำเภอนี้ เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำจากพื้นที่โดยรอบ จึงทำให้มีตะกอนดินไหลตามน้ำมาทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจด้วยการขุดชั้นดินพบว่ามีชั้นตะกอนดินเหนียวสีเทาดำหนากว่า 1 เมตร
ซึ่งตะกอนดินเหล่านี้ เป็นอาหารชั้นเลิศของสัตว์น้ำทุกชนิด รวมไปถึง “กุ้งก้ามกราม” ด้วย ทั้งน้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง เป็นน้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนรินทร์ จ.กาญจนบุรี ที่ผันลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งได้รับการการันตีว่ามีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ ประกอบกับการพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิควิธีการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกุ้งก้ามกรามบางแพ มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เริ่มตั้งแต่กุ้งมีอัตราการรอดสูง ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม 3 เท่าตัว เจริญเติบโตเร็ว ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นลงถึง 2 เดือน
ในส่วนของตัวกุ้ง ที่บริเวณหัวจะมีมันมากกว่าปกติ สีเปลือกเขียวอมฟ้า มันเงาสวยงาม เมื่อนำไปประกอบอาหารจึงได้รสชาติดี หวาน กรอบ ส่งผลให้ราคารับซื้อหน้าบ่อสูงกว่าในพื้นที่อื่นประมาณ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหลังจากที่ตนทราบว่า “กุ้งก้ามกรามบางแพ” จะได้ขึ้นเป็นสินค้า GI ทำให้ตนรู้สึกดีใจ และเป็นกำลังใจที่ดี ในการผลักดันให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง และช่วยการันตีถึงคุณภาพสินค้าต่อตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ นายชัยรัตน์ ชื่นเจริญ พาณิชย์จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา จ.ราชบุรี มีสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 5 ชนิด ได้แก่ โอ่งมังกรราชบุรี มะพร้าวน้ำหอมดำเนินสะดวก สับปะรดหวานบ้านคา ไชโป้วเจ็ดเสมียน และกุ้งก้ามกรามบางแพ ในส่วนของกุ้งก้ามกรามบางแพ มีเกษตรกรทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกว่า 1,200 ฟาร์ม พื้นที่รวม 21,000 ไร่ แบ่งเป็นฟาร์มที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 593 ฟาร์ม ผลผลิตรวมทั้งหมดกว่า 9,500 ตันต่อปี สร้างรายได้กว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี
สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน GI จะต้องเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะต้องอยู่ในพื้นที่ อ.บางแพ ดำเนินสะดวก และโพธาราม จ.ราชบุรี เท่านั้น ซึ่งหลังจากเกษตรกรได้รับมาตรฐาน GI แล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันให้กุ้งก้ามกรามบางแพเข้าสู่ตลาด Modern Trade และตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น อาทิ งานแสดงสินค้าด้านอาหารชั้นนำของภูมิภาค หรือ THAIFEX-Anuga Asia ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า (พ.ศ.2567)
นอกจากนั้น จากการพูดคุยกับเกษตรกร ตนจะได้นำปัญหาด้านมาตรฐานการผลิตกุ้งก้ามกรามที่ยังไม่สอดคลองกับมาตรฐานการนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศ ส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางแผนการเจรจาพูดคุยผ่านทูตพาณิชย์ต่อไป ซึ่งหากสามารถปลดล็อคจุดนี้ได้ กุ้งก้ามกรามไทยจะสามารถส่งจำหน่ายได้ทั่วโลก สร้างรายได้แก่เกษตรกร และเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าประเทศไทย
สุจินต์ นฤภัย /ราชบุรี