In Bangkok

รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ลงพื้นที่เขตคลองสาน ดูงานทะเบียน/แยกขยะ/สวน15นาที



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่เขตคลองสาน เล็งลดขั้นตอนงานบริการทะเบียนบัตร เช็กระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตคลองสาน ปั้นสวน 15 นาทีท่าน้ำวัดทองธรรมชาติ จัดระเบียบผู้ค้าถนนท่าดินแดง ชมคัดแยกขยะโรงแรมไอบิส สุ่มวัดค่าฝุ่นไซต์ก่อสร้างศูนย์ราชการมหาดไทยย่านเจริญนคร 

(6 ก.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองสาน ประกอบด้วย 

ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตคลองสาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงาน ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา การปรับลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 19,450 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 25,928 แห่ง ห้องชุด 16,181 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 61,559 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตคลองสาน มีข้าราชการและบุคลากร 217 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายจะคัดแยกขยะเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ มีถังรองรับขวดพลาสติกตามโครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ แยกเพื่อให้...พี่ไม้กวาด เพื่อนำส่งศูนย์จัดการมูลฝอยฯ พระราม 7 กิจกรรมขยะรีไซเคิลและน้ำมันเหลือใช้จากครัวเรือน นำมาแลกไข่ทุกเดือน 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายมีถังรองรับเศษอาหาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเศษอาหารในจุดรวบรวมที่กำหนดทุกวัน 3.ขยะอันตราย มีจุดรวบรวมขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง 4.ขยะทั่วไป มีถังรองรับขยะทั่วไปในจุดรวบรวมที่กำหนด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 45 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจสวน 15 นาที (สวนแห่งใหม่) บริเวณท่าน้ำวัดทองธรรมชาติ ถนนเชียงใหม่ พื้นที่ 57 ตารางวา ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำพื้นทางเดิน โรยกรวด ปูหญ้าเทียม ปลูกไม้พุ่ม ไม้ประดับ เสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงสวนหย่อมริมคลองสานฝั่งตรงข้ามสำนักงานเขตฯ พื้นที่ 50 ตารางวา และสวนหย่อมตรงข้ามสำนักการศึกษา พื้นที่ 100 ตารางวา โดยปรับปรุงเป็นสวนหย่อมขนาดเล็ก ประกอบด้วย สวนแนวตั้ง สนามหญ้า ปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ประดับ ลานพักผ่อน ม้านั่งสนาม และแผ่นทางเดิน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่มาติดต่อราชการที่เขตฯ และเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลตากสิน มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สำหรับสวน 15 นาที เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อสร้างประโยชน์ใช้สอยสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายแก่ประชาชนในพื้นที่ 

ติดตามการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 457 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 3.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 4.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1 ถึงซอย 5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 5.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2 ถึงซอยเจริญนคร 4 ผู้ค้า 1 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-24.00 น. 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8 ถึงซอยเจริญนคร 12 ผู้ค้า 2 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 8.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก บริเวณหน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 9.ถนนเจริญนครฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. และ 10.ฝั่งขาออก จากหัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 926 ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. ฝั่งขาเข้า จากหัวถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 

ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 210 ราย ดังนี้ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-02.00 น. 2.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกบ้านแขก ถึงแยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-02.00 น. 3.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 5-7 ผู้ค้า 2 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-18.00 น. 4.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 5.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 6.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-22.00 น. 7.บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 24.00-14.00 น. 8.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1 ถึงปากซอยกรุงธนบุรี 5 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-14.00 น. 9.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3 ถึงสะพานเจริญนคร 4 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 10.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29 ถึงซอยเจริญนคร 53 ผู้ค้า 19 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 11.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18 ถึงปากซอยเจริญนคร 46 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 12.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 13.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-23.00 น. 14.บริเวณถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่ง ตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 15.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-23.00 น. และ 16.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1 ถึงปากซอยเจริญรัถ 5 ผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-14.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน ตลอดจนพิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงหาผู้สนับสนุนในการจัดทำแผงค้าให้กับผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้า เพื่อความเป็นระเบียบและสวยงาม โดยให้มีรูปแบบและลักษณะเดียวกัน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมไอบิสกรุงเทพริเวอร์ไซด์ ซอยเจริญนคร 17 มีห้องพัก 266 ห้อง ห้องประชุมจัดเลี้ยง 2 ห้อง เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีจุดทิ้งขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นห้องแยกเป็นสัดส่วน มีการคัดแยกเศษอาหารจากการที่ผู้ใช้บริการ โดยรวบรวมใส่ถังและนำไปเก็บที่ห้องขยะเก็บเศษอาหาร เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรนำไปทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร ซึ่งจะเข้ามาเก็บวันเว้นวัน 2.ขยะรีไซเคิล มีจุดทิ้งขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขวดพลาสติก กระดาษ และกล่องต่างๆ รวบรวมส่งให้ SCG 3.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้ จะนำไปทิ้งในจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดทิ้งขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 265 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ถนนเจริญนคร ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จำนวน 1 อาคาร (6 ทาวเวอร์) ประกอบด้วย อาคารกรมที่ดิน ความสูง 19 ชั้น อาคารกรมการปกครอง ความสูง 21  ชั้น อาคารกรมการพัฒนาชุมชน ความสูง 15 ชั้น อาคารกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ความสูง 16 ชั้น อาคารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความสูง 16 ชั้น และอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ความสูง 14 ชั้น นอกจากนี้ยังมีอาคารจอดรถ จำนวน 1 อาคาร ความสูง 8 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ ประเภทการตรวจวัดควันดำ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ว่าที่ร้อยตรีสรวุฒิ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการเขตคลองสาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล