Think In Truth

'มีก้าวไกล ไม่มี ส.ว.'แคมเปญที่สุ่มเสี่ยง โดย :  หมาเห่าการเมือง



ส.ว. ออกแคมเปญ “มีก้าวไกล ไม่มี ส.ว.” เป็นแคมเปญในการสร้างกระแสความร่วมมือในการสกัดการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกลที่เป็นประเด็นที่ผลักให้สภาสูงปะทะกับมหาชน ซึ่งเป็นความสุ่มเสี่ยงที่สังคมจะได้ข้อสรุปว่า ส.ว. มีไว้ทำไม ?...

แคมเปญการหาเสียงของพรรคก้าวไกล ในกระแสของความเบื่อหน่ายในการปกครองภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือรัฐบาลลุง ที่เกิดกระแสความต้องการเปลี่ยนขั่วการเมืองของสังคมไทย ซึ่งสังคมได้ให้ความสนใจที่จะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านขึ้นมา

พรรคเพื่อไทยเองก็หลงเข้าใจว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคเพื่อไทยจะยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ จึงวางแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งไว้ “แลนด์สไลด์” เพื่อประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชน ในขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอแคมเปญการหาเสียงที่โดนใจประชาชน ไม่ว่ารัฐสวัสดิการ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เบี้ยบำนาญ3000 บาทต่อเดือน รวมถึงการแก้ไขมาตร 112 เพื่อป้องกันการใช้กฏหมายในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม พรรคก้าวไกลก็ยังมีกระแสนิยมให้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้พรรคการเมืองฝ่ายฝ่ายตรงข้ามระแวง และใช้วิธีทำลายพรรคก้าวไกลด้วยการสร้างเฟคนิวส์ที่สร้างข่าวเรื่องพรรคก้าวไกลจะหักหลังประชาชน ด้วยการร่วมกันพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการจัดตั้งรัฐบาล  และเกมการเมืองที่ชนยุทธวิธีออกมาต่อสู้ในทุกรูปแบบ จนพรรคก้าวไกลได้ออกแคมเปญ “มีลุง ไม่มีเรา” ซึ่งทำให้คนในสังคมที่เบื่อต่อการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ได้หันมาสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอชื่อนายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา เป็นกระธานสภาฯ และได้รองประธานสภาฯทั้งสองท่าน ซึ่งกว่าที่จะดำเนินการได้ตัวประธานสภาฯและรองประธานสภา พรรคก้าวไกลและนายพิธาต้องผ่านอุปสรรคในการสกัดการขึ้นเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและเป็นนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งการได้รับแคมเปญต่อต้านการร่วมกับพรรคกล้าพัฒนา “มีกร ไม่มีกู” จนพรรคก้าวไกลต้องถอยไม่รับนายกรณ์ จาติกวณิช เข้ามาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล

ถึงแม้การโหวตรับรองประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ผ่านไป จนได้เข้ารับการโปรดเกล้าให้นายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา เป็นกระธานรัฐสภาแล้ว กระแสการต่อต้านนายพิธาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ได้ลดน้อยลง และมีการสร้างกระแสกล่าวหานายพิธา และพรรคก้าวไกลมาในประเด็นต่างๆ ที่จะทำให้นายพิธาขาดคุณสมบัติ หรือหรือขาดความชอบธรรมมาโดยตลอด แต่นายพิธา และพรรคก้าวไกลก็อาศัยท่าทีที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ผ่านพ้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะโดนร้องเรื่องถือหุ้นไอทีวี เครื่องล้มเจ้า หรือแม้แต่เรื่องที่พรรคก้าวไกลจะมีนโยบายตั้งฐานทัพ ด้วยความสามารถในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ก็ทำให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล ยังคงเดินหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตรับรองการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา แต่ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาก็ยังคงไม่สามารถสกัดนายพิธาขึ้นเป็นนายกจากกระแสความนิยมของสังคมได้

แคมเปญที่ ส.ว.แกนนำมาสร้างวาทกรรมการต่อต้านพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นรัฐบาลและนายพิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นั้นคือ “มีก้าวไกล” ไม่มี ส.ว.”เป็นแคมเปญที่ไม่รู้ว่าฝ่าย ส.ว. กลุ่มต่อต้านนายพิธานั้นหาเสียงกับใคร เพราะ ส.ว.เองก็มีเพียง 250 เสียงในสภาเท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับมวลชนที่ให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกลแล้ว มันต่างกันมาก ถึงแม้นว่า ทั้ง ส.ว. รวมกับ ส.ส.ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ยังคงเทียบกันไม่ได้กับมวลชนที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนรัฐบาล ส.ว.ทั้งหมดรวมกับ ส.ส.ที่ไม่ได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะมีจำนวนมากพอที่จะสกัดนายพิธาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ใช่ว่า จะไม่มี ส.ว.และ ส.ส.ที่ยืนในหลักการให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. มากที่สุดในสภาเป็นรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีควรจะมาจากจากพรรคที่มีเสียงข้างมาก  ซึ่งก็เท่ากับ แคมเปญที่ ส.ว. ต่อต้านนายพิธาที่เสนอออกมาต่อสาธารณะ เป็นความสุ่มเสี่ยงและทำลายความมั่นคงทางการเมืองของชาติ

นั่นคือ ประเทศไทยมีสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักในการธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ แต่การปกครองของประเทศเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผ่านระบบสภา การปกครองที่ผ่านระบบสภา นั่นต้องอาศัยความสมดุลในพลังของทั้งสามสถาบันเพื่อกำหนดทิศทางในการปกครองประเทศ สภาผู้แทนราษฎรเป็นพลังอำนาจการปกครองโดยสถาบันชาติ คือ อำนาจประชาชน

ส่วนอีกสองสถาบันคือ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ อาศัยอำนาจผ่านสมาชิกวุฒิสภา เพื่อกลั่นกรองกฏหมาย และนโยบาย ให้เกิดความสมดุล มีพลังทั้งสามสถาบันประสานเสริมส่งให้รัฐบาลจะนำไปใช้ในการบริหารรัฐ ให้เกิดการพัฒนาสูงสุด อย่างบูรณาการให้กับประเทศ

แล้วแคมเปญ “มีก้าวไกล ไม่มี ส.ว.” ส่งผลกระทบอะไร??.......เป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มของการปิดสวิตซ์ ส.ว.เป็นไปได้สูงมาก และพรรคก้าวไกลยังคงได้รับการสนับสนุนให้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งภายในและภายนอกสภา เพราะนายพิธา และพพรรคก้าวไกลมีความชอบธรรม ที่มาตามระบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นความเข้าใจของประชาชนที่เคยได้รับคำถามโดยไม่มีคำตอบว่า “ส.ว.มีไว้ทำไม” ก็จะเกิดข้อสรุปร่วมกันของสังคมอย่างผิดๆ ที่ว่า ส.ว. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีในรัฐสภา

ในระบบการปกครองของไทย นั่นเท่ากับ แคมเปญดังกล่าวได้ชี้นำให้สังคมตัดสินว่า ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขหรือฉบับร่างขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเท่ากับแคมเปญที่ ส.ว.กลุ่มต่อต้านนายพิธาขึ้นเป็นนายกฯ ได้ทำลายพลังอำนาจของสถาบันศาสนา และพระมหากษัติย์ ที่จะเข้ามาร่วมประสานในการเสริมทิศทางของกฏหมายและนโยบาย ที่รัฐบาลจะได้นำไปบริหารประเทศในอนาคต

ประเทศไทย ณ เวลานี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ในการสร้างจุดเริ่มต้นของการเมืองการปกครองของประเทศให้ถูกต้อง ถูกทิศ ถูกทาง ถูกตำแหน่งแห่งหน ดังนั้นเพื่อสร้างมรดกแห่งวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครอง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความผาสุข อยู่ดี กินดีของประชาชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกรัฐสภาทุกท่านลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง โดยเริ่มต้นที่ตัวของสมาชิกรัฐสภาของแต่ละท่านแล้วหันกลับไปมองถึงหลักการ มองระบบ แล้วมาร่วมกันสร้างแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะให้ไว้เป็นมรดกตกทอดที่คนรุ่นหลังสามารถปฏิบัติได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างบรรทัดฐานในการดำเนินกิจการทางการเมืองการปกครองให้ประเทศมีความมั่นคง เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปเถอะ นะครับ