EDU Research & ESG
'เอ็นไอเอ'เปิด6วาระแห่งชาติสร้างไทย เป็นชาตินวัตกรรมดึงเครือข่ายร่วมเปิดตัว
กรุงเทพฯ 14 กรกฎาคม 2566-สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดงานเชิดชูเกียรติ CHIEF INNOVATION OFFICER โดยมอบเข็มที่ระลึกและประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสมาคม จำนวน 85 หน่วยงาน เพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างความภาคภูมิใจในฐานะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในองค์กร หรือเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานทางด้านนวัตกรรมในแต่ละองค์กร รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมของประเทศให้ก้าวสู่การเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” และติด 1 ใน 30 อันดับของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน ) หรือ NIA กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน NIA จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (Thailand Innovation Alliance) ขึ้น เพื่อรวบรวมหน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของประเทศจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา ภาคสังคม เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเชื่อมโยงโอกาสและสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรม รวมถึงสร้างการเติบโตและการยอมรับนวัตกรรมไทยในเวทีโลก โดย CHIEF INNOVATION OFFICER (CIO) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรใน 3 ด้าน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ การเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของบุคลากรในองค์กร ผ่านการพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยที่เป็นการรวมตัวกันของ CHIEF INNOVATION OFFICER (CIO) จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรม การเชื่อมโยงโอกาสและสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรม และการสร้างการเติบโตและการยอมรับของนวัตกรรมไทยในเวทีโลก
“เครือข่ายนวัตกรรมนี้จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศสู่ชาตินวัตกรรมให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ใน 6 ประเด็น ได้แก่ Home Grown Technology ไทยต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในส่วนที่มีศักยภาพอยู่แล้วและในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สร้างขึ้นใหม่ Regionalization of Innovation สร้างโอกาสทางนวัตกรรมระดับภูมิภาค Thailand in Global Value Chain เอกชนรายใหญ่และกลุ่มทุนไทยต้องอยู่ในวงการลงทุนทางนวัตกรรมโลก Sustainable Innovation นวัตกรรม BCG เพื่อตอบโจทย์สังคม สิ่งแวดล้อม และเมืองน่าอยู่ Data-driven Innovation นวัตกรรมฐานข้อมูลที่สร้างการยอมรับระดับนานาชาติ และ Innovation Thailand Policy ปรับกฏหมายให้เอื้อต่อกระบวนการทางนวัตกรรม และให้มีนโยบายนวัตกรรมทั้งระดับองค์กร และระดับประเทศ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่ปรึกษา NIA กล่าวว่า NIA จัดทำเครื่องมือให้แก่ทุกองค์กรในเครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมให้บุคลากรในองค์กร ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรนวัตกรรมต่างๆ ของสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) 2. การยกระดับองค์กรไปสู่การเป็นนวัตกรรม ด้วยการประเมินและรับคำปรึกษาในการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กรจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย และวางแนวทางดำเนินการยกระดับการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กร ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Program) 3. การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมนวัตกรรม (Innovation Forum & Network) ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม รวมถึงเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างกัน ซึ่งหวังว่าเครือข่ายนวัตกรรมจะเข้มแข็งและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันผลักดันนวัตกรรมของประเทศต่อไป