Travel Sport & Soft Power
ย้อนสำรวจเมืองในอุดมคติในรัชกาลที่6
กรุงเทพฯ-ย้อนสำรวจเมืองในอุดมคติ ตามจินตนาการของรัชกาลที่ 6 ในบริบทศตวรรษที่ 21 ในเทศกาล Bangkok Art Biennale ที่ เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก
นับเป็นข่าวดีสำหรับคนรักศิลปะ ที่ขณะนี้เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020)ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes)” ได้ประกาศขยายเวลาจัดงานที่ เดอะ พรีลูด (The Prelude) วัน แบงค็อก (One Bangkok) จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าชม ให้ได้แวะเวียนเข้าไปเสพงานศิลป์ที่ถ่ายทอดความคิด จินตนาการ และส่งต่อพลังบวกท่ามกลางผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564
ผลงาการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ภายใต้แนวคิดเรื่องการสร้างเมืองในประเทศไทยมีวิวัฒนาการยาวนานมานับตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน โดยการจำลองเมืองในอุดมคติที่เป็นต้นแบบสำคัญ และส่งอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคือเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สร้าง “ดุสิตธานี” ขึ้นมา ประดุจจังหวัดหนึ่งในสยาม ซึ่งประกอบด้วยผังเมืองตามสมัยใหม่ การผสมผสานระหว่างสังคมไทยดั้งเดิมและความเป็นสากล รวมถึงเป็นจุดตั้งต้นขององค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
แม้ปัจจุบัน “ดุสิตธานี” ของจริงจะเหลือปรากฏเพียงหลักฐานในหน้าประวัติศาสตร์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีความพยายามชุบชีวิตเมืองในฝันแห่งนี้ให้กลับมาอีกครั้งภายในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผ่านผลงานศิลปะชุด “เมืองในฝัน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย ที่จัดแสดง ณ เดอะ พรีลูด (The Prelude) วัน แบงค็อก (One Bangkok) ซึ่งนำเสนอเป็นงานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งปลูกสร้างในดุสิตธานีด้วยเทคนิคจิตรกรรมเหมือนจริง โดยจัดแสดงควบคู่ไปกับผลงาน “บ้านน้อมเกล้า” ซึ่งเป็นมุมมองภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า ในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
เมื่อเร็วๆ นี้ เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้จัดงานเสวนา “BAB Talk #47: ย้อนสำรวจดุสิตธานี เมือง(จำลอง)ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินเจ้าของผลงาน ตลอดจน ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เชื้อพร รังควร เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับผลงาน “ดุสิตธานี” และ “บ้านน้อมเกล้า”ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม รวมไปถึงการตีความความสัมพันธ์ของเมืองทั้งสองในฐานะเมืองในฝันที่เกิดขึ้นในบริบทและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก ได้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนาและเหล่าผู้รักศิลปะและรู้สึกเป็นเกียรติที่วันแบงค็อกได้เป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด ตลอดจนเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยระดับโลก และช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งศิลปิน และผู้เข้าชมเข้าถึงศิลปะได้ ในฐานะองค์ประกอบสำคัญในชีวิตประจำวัน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย เริ่มต้นเวทีเสวนาโดยเผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานว่า เกิดจากความสนใจในเรื่องของดุสิตธานีที่พบในหนังสือประวัติศาสตร์ ประกอบกับความชื่นชอบในด้านการวาดรูป จากนั้นจึงค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมกับพยายามหาจุดเชื่อมโยงกับปัจจุบัน และหาทางนำเสนอออกมาในรูปแบบที่สามารถต่อยอดคุณค่าของดุสิตธานีได้ในหลายมิติ
“ผลงานชุดนี้เกิดจากการถอดแบบอาคารตามหลักฐานที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ทั้งภาพถ่ายเก่าและสิ่งก่อสร้างส่วนหนึ่งที่ได้รับการบูรณะรักษาไว้ เพื่อต่อยอด ถ่ายทอดเป็นผลงานให้คนในปัจจุบันได้เห็น และเป็นเครื่องมือที่อาจช่วยสร้างคุณค่าบางอย่างขึ้นมาได้ในอนาคต” ประทีป กล่าว
ประทีป เผยต่อว่า “แหล่งข้อมูลสำคัญคือภาพถ่ายโมเดลของดุสิตธานีในอดีตที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ และแผนที่ที่บันทึกโดยพระยาอนุชิตชาญชัย อีกทั้งยังได้ไปค้นคว้าภาพถ่ายบางส่วนเพิ่มเติมที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และศึกษาเรื่องสัดส่วนจากสถานที่ต่างๆ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 แล้วนำหลักฐานทั้งหมดมาปะติดปะต่อกันเลยทำให้เกิดเป็นผลงานพิมพ์เขียวชุดนี้ขึ้นมา จากนั้นจึงเชื่อมโยงเรื่องราวของเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริง ในหมู่บ้านน้อมเกล้า จังหวัดยโสธร”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรศรี โพวาทอง นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ก่อนหน้านี้เราจะเห็นภาพของดุสิตธานีได้จากเพียงภาพถ่ายขาวดำ รูปโมเดล หรือข้อความบรรยายเท่านั้น แต่อาจารย์ประทีปสามารถทำให้ภาพเหล่านี้ให้ประจักษ์ชัดได้อย่างชัดเจนมาก ทั้งยังนำสองเมืองในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวแทนระหว่างเมืองในอุดมคติกับเมืองในความเป็นจริงมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งช่วยกระตุ้นความคิดได้ในหลายแง่มุม”
ดร. พีรศรี กล่าวเพิ่มเติมในแง่สถาปัตยกรรมของดุสิตธานีว่า “ดุสิตธานีถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยที่เริ่มมีความหลากหลายในด้านสถาปัตยกรรม สะท้อนให้เห็นถึงไทยประเพณีที่มีการผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ามามากขึ้น และชีวิตของผู้คนที่เริ่มมีหลายแง่มุม และมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น”
ขณะที่ เชื้อพร รังควร ให้มุมมองว่าดุสิตธานีเป็นหน้าตาของเมืองสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นกลยุทธ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมในความเป็นจริงและนำประเทศไทยสู่ความเป็นสากล
“นอกจากสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ดุสิตธานีสะท้อนให้เห็นคือบรรทัดฐานของสังคมและลักษณะการอยู่ร่วมกันของพลเมืองที่เป็นสากลมากขึ้น ดุสิตธานีกำหนดมาตรฐานของเมืองในอนาคตว่าต้องควรต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง อาทิ ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น การออกสิทธิ์ออกเสียงของชุมชน การจัดแบ่งโซน ระบบการเสียภาษีเพื่อส่วนกลาง หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมืองผ่านหนังสือพิมพ์ และกิจกรรมการประกวดเคหะสถานที่ถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือฝึกให้สังคมอยู่ด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้ล้วนถูกนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างในเวลาต่อมาในเวลาต่อมา” เชื้อพร กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้เหตุผลของการนำผลงานดังกล่าวมาจัดแสดงที่ เดอะ พรีลูด ว่า “คณะผู้จัดงานเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เล็งเห็นว่าผลงานของอาจารย์ประทีปเป็นผลงานศิลปะอิงประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อบริบทในปัจจุบัน จึงเลือก เดอะ พรีลูด ในโครงการวัน แบงค็อก เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานชิ้นนี้ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘เมืองในอุดมคติ’ ในหลากหลายมิติสำหรับอนาคต อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งของ เดอะ พรีลูด ก็อยู่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ด้านหน้าสวนลุมพินีอีกด้วย”
นอกเหนือจากผลงาน “ดุสิตธานี” และ “บ้านน้อมเกล้า” แล้ว ภายใน เดอะ พรีลูด วัน แบงค็อก ยังมีการจัดแสดงผลงาน “4th Infinite Growth #1 & #2, 2020” และ “Sappaya Sapha Sathan, 2020” โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น ยูเกน เทรูยะ ซึ่งเป็นผลงานการจำลองอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จากมุมสูงโดยใช้เงินในเกมเศรษฐี (Monopoly) เป็นวัสดุ ซึ่งแฝงนัยยะถึงการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสกุลเงินทั้งแบบสมมติและของจริง และมูลค่าของเงินนั้นที่ผันผวนขึ้นลงโดยขึ้นอยู่กับอิทธิพลภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ โรคระบาดใหญ่ แรงเสียดทานทางการเมือง และสงครามการค้า
ขณะนี้ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020) ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes)” ที่ เดอะ พรีลูด ได้ประกาศขยายเวลาจัดงาน ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามารับชมผลงานทั้งหมดนี้ได้ในเวลา 10.00-20.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย