In Thailand
อช.เขาสามร้อยยอดบวงสรวงขอขมาพ่อปู่ การลักลอบตัดหินพระธาตุบนยอดเขา
ประจวบคีรีขันธ์- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ทำพิธีบวงสรวงขอขมาพ่อปู่เขาสามร้อยยอด จากการลักลอบตัดหินพระธาตุบนยอดเขาในพื้นที่อุทยาน พร้อมทำพิธีเปิดสะพานศึกษาธรรมชาติบึงบัว ที่ซ่อมแซมใหม่จนเสร็จสมบูรณ์สวยงาม
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดพิธีบวงสรวงขอขมาพ่อปู่เขาสามร้อยยอด จากการลักลอบตัดหินพระธาตุในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สย.3 (โรงเจ) โดยมีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวง พร้อมด้วย นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายมนต์ชัย หนูสาย นายอำเภอสามร้อยยอด, นายประเวศ ศรีสุนทรไท ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี, นายประธาน สังวรณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ, นายสุธีร์ ลอยมา ผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ, นายสุรศักดิ์ อนุเมธางกูร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า, นายภัทร ทรัพย์เจริญ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ, นายธีระศักดิ์ พลายมี ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า,นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานต่างๆในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามร้อยยอด, ผู้นำชุมชน, สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เข้าร่วมพิธี
จากนั้น นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมคณะฯ ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดสะพานเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ศึกษา ความหลากหลาย ทางธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด ตามโครงการปรับปรุงทางเดินศึกษาธรรมชาติบึงบัวเพื่อรองรับอารยสถาปัตย์
สำหรับทุ่งสามร้อยยอด (บึงบัว) อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบดอกบัวหลวงและธรรมชาติ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ปกคลุมไปด้วยพืชน้ำจำพวกอ้อ กก และแขม จึงเป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ของนกนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น นกยาง นกกาน้ำ นกอีล้ำ นกเป็ดผี ในฤดูหนาวยังมีนกเป็ดน้ำและเหยี่ยวย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เป็ดหางแหลม เป็ดปีกเขียว เหยี่ยวผึ้ง นกอินทรีปีกลาย นกอินทรีหัวไหล่ขาว จึงเหมาะสำหรับถ่อเรือสัมผัสบรรยากาศ ดูนก ถ่ายภาพ และการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศพืชและสัตว์น้ำจืด ทางเดินศึกษาธรรมชาติพันธุ์ไม้น้ำ เป็นเส้นทางเดินบนสะพานทางเดินยกระดับเพื่อชมธรรมชาติบึงบัว โดยในระหว่างเส้นทางจะมีป้ายสื่อความหมายของพืชน้ำในทุ่งสามร้อยยอด เช่น ธูปฤาษี มอสน้ำ สาหร่ายฉัตร จอก บัวสาย บัวหลวง บัวเผื่อน เป็นต้น