In Bangkok

คณะผู้บริหารกทม.และบุคลากรในสังกัด ทำบุญตักบาตรเนื่องในวันอาสาฬหบูชา



กรุงเทพฯ-(1 ส.ค. 66) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 66 รูป เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้ และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่านพระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อวันนี้ของทุกปีเวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และพุทธศาสนิกชนในที่บางแห่งยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชาว่า "วันพระสงฆ์" ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน 8 อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 8

สำหรับวันอาสาฬหบูชามีความสำคัญ คือ 1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา 2 .เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรประกาศสัจจธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณ 3. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาในวันนั้น และ 4. เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนะสมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

ทั้งนี้ วันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 ซึ่งในวันอาสาฬหบูชามีการประกอบพิธี แบ่งออกเป็น 3 พิธีคือ 1. พิธีหลวง (พระราชพิธี) 2. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป) และ 3. พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)