In Bangkok
กทม.จับมือAISและภาคีเดินหน้าขยายผล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สู่437โรงเรียน
กรุงเทพฯ-กทม. จับมือ AIS และภาคี เดินหน้าขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สู่ 437 โรงเรียนในสังกัด ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัล รู้ทันภัยไซเบอร์
(4 ส.ค. 66) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ AIS และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 437 แห่ง ที่มีบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน โดยตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้อยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน มีทักษะดิจิทัล สามารถใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม ผ่านการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน กิจกรรมชมรม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และกิจกรรมแนะแนว หรือแม้แต่รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละสถาบันการศึกษา เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ คือ การพัฒนาด้านการศึกษา โดยกรุงเทพมหานครได้มีนโยบายเรียนดี มุ่งเน้นการทำให้การศึกษาเป็นการเรียนรู้ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำการออกแบบการศึกษาในวันนี้ให้สามารถที่จะตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดกทม. ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี
ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกทม.มีห้องแล็บคอมพิวเตอร์ใหม่ 93% และตั้งเป้าครบ 100% (ทุกโรงเรียนในสังกัดกทม.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ในส่วนของการเรียนรู้ในห้อง กทม.มีนโยบายพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) โดยเปิดรับบริจาคคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อใช้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับนักเรียนและทำให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning (เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม) ได้
โดยปกติการเรียนการสอนในโรงเรียนจะมีหลักสูตรแกนกลางที่ทางโรงเรียนจะต้องดำเนินการออกแบบเวลาเรียนให้เหมาะสม แต่ปัจจุบันทางกทม.ได้พยายามจะปรับให้มีการบูรณาการหลักสูตรระหว่างหลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรนอกห้องเรียนมากขึ้น มีการเปิดเวลาเรียนให้มากขึ้น ทั้ง After School และ Saturday School เพื่อเปิดทั้งในแง่ของกายภาพและเปิดวัฒนธรรมของการเรียนรู้ ว่าการเรียนรู้ไม่ใช้แค่ในตำราเท่านั้น
ด้านเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน กทม.ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรได้รับการเรียนรู้คือโลกของดิจิทัล ทักษะด้านดิจิทัลในการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพ ซึ่งความร่วมมือกับ AIS รวมถึงกรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์มาบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอนครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานครให้ยกระดับไปอีกขั้น
สำหรับการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้ามาในโรงเรียนสังกัดกทม.ทั้ง 437 แห่ง เราจะไม่ได้กำหนดว่าทุกโรงเรียนจะต้องทำเหมือนกัน แต่ให้แต่ละโรงเรียนนำไปปรับ โดยอาจจะใช้ในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคม แนะแนว ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ หรืออาจจะใช้ในหลักสูตรนอกห้องเรียน ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนจะออกแบบ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการถอดบทเรียนของแต่ละแห่งมาเป็นเมนูให้โรงเรียนอื่น ๆ เลือกต่อไป ส่วนการวัดผล นอกจากในเชิงจำนวนคนแล้ว หัวใจสำคัญยังเป็นเรื่อง impact (ผลกระทบ) ว่าผู้เรียนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งเป้าหมายหลักคือการทำให้ทั้งบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ จนนำไปสู่การเสริมสร้างทักษะดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สามารถการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ในการนี้ ต้องขอขอบคุณทาง AIS และภาคีเครือข่ายสำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ กทม.จะนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
อนึ่ง ผู้สนใจมีส่วนร่วมในการเข้ามาพัฒนาการศึกษาให้กับนักเรียนกทม. มีโน้ตบุ๊กเครื่องเก่า แรม 4 GB ขึ้นไป HDD หรือ SSD ความจุไม่น้อยกว่า 16 GB สามารถดูรายละเอียดหรือกรอกแบบฟอร์มขอบริจาคได้ที่ https://digitalclassroom.bangkok.go.th
ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีเป้าหมายหลักให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข ซึ่งปัจจุบันชีวิตของคนส่วนใหญ่อยู่ในโลกดิจิทัลคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงร่วมมือกันเพื่อทำให้ทั้งเด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่สามารถใช้ชีวิตโลกดิจิทัลให้มีความสุขและมีความปลอดภัย
รศ.ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในส่วนของความร่วมมือในการทำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ประกอบด้วย AIS เข้าใจ - กทม. เข้าถึง - กรมสุขภาพจิต พัฒนา และ มจธ. บูรณาการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความระมัดระวังในการใช้งานสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมสำหรับทุกคนต่อไป
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่ากลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ กลับเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลและส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเดินหน้านำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าวส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะทำให้เยาวชน บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
สำหรับ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” จะมีการนำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ประกอบด้วย 1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2. Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ 4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index