EDU Research & ESG

50ปีมรภ.สุราษฎร์ธานีจัดมหกรรมวิชาการ จากวิทยาลัยครูก้าวสู่ม.วิศวกรสังคม



สุราษฏร์ธานี-มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดงานแถลงข่าวงานมหกรรมวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จากวิทยาลัยครูสู่มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างวิศวกรสังคม ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2566 พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม–3 กันยายน 2566 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดบ้านโชว์ผลงานตลอด 50 ปี เปิดประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ เร่งขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่อนาคต โดย ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมวิชาการ 50 ปี มรส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี กล่าวถึง ที่มา วัตถุประสงค์ ความสำคัญของการจัดงาน สัมมนาคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งที่ 8 และการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งการรับใช้สังคม ตลอดการผลักดันเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน และนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึง ความร่วมมือการสนับสนุนและการบูรณางานร่วมกันระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ณ ห้องเฟื่องฟ้า ชั้น 4 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กำหนดจัดงานมหกรรมวิชาการ 50 ปี มรส. ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2566 เพื่อเป็นการประกาศความก้าวหน้า ด้านผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาและสั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ พร้อมที่จะอบรมสั่งสอนนักศึกษาในทุกสาขาวิชา มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจาก “วิทยาลัยครู สุราษฎร์ธานี” ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2516 ได้รับใช้ชุมชนท้องถิ่นเคียงข้างกับประชาชน ในการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ ได้สร้างบุคลากรสู่ท้องถิ่นนับแสนคน เพื่อเป็นสรรพกำลัง

สร้างสรรค์ผลงานในทุกมิติแก่ท้องถิ่นด้วยการพัฒนานักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นด้านการศึกษาตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ต้องการให้คนในชุมชนได้รับการศึกษาและนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่นได้ตรงตามลักษณะของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีการสร้างคุณลักษณะแก่นักศึกษาให้เป็น “วิศวกรสังคม” ไว้ 4 ประการหลัก คือ 1. เป็นนักคิด 2. เป็นนักสื่อสาร 3. เป็นนักประสาน และ 4. เป็นนวัตกร เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นได้จริง

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ที่มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งที่ 8 ซึ่งกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2566 ณ หอประชุมชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง อำเภอไชยา อำเภอบ้านตาขุน และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดระยะเวลา 4-6 วัน ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการประชุมจะมีการระดมความคิด ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดกิจการของมหาวิทยาลัยกว่า 80 สถาบัน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแผนพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเครือข่ายคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการพัฒนามหาวิทยาลัย ศึกษาและสำรวจการจัดการพื้นที่ในบริบทต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลหรือเป็นต้นแบบในการพัฒนาและต่อยอดภายใต้บริบทของการพัฒนากิจการมหาวิทยาลัย จึงเป็นเสมือนกิจกรรมเชิดชูการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นการเผยแพร่วิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญาและศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นปักษ์ใต้ 

สำหรับอัตลักษณ์ปักษ์ใต้ที่ได้นำมาสื่อสารเป็น Soft Power ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย อาหารพื้นถิ่นใต้และสวรรค์ของอาหารทะเล เพื่อนำมาจัดเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมที่เดินทางมาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ เมนูคั่วกลิ้งหมู ขนมจีน ยำผักกรูด หอยแครง หอยแมลงภู่ ต้มกะทิยอดมะพร้าว แกงคั่วปลาดุก หมูโค น้ำพริกตลิงปลิง หมูฮ้อง ผัดไทยไชยา ผักเหลียงผัดไข่ กุ้งทอดราดซอสมะขาม แกงส้ม แกงเผ็ดปลากะเบน ไก่ต้มขมิ้น น้ำพริกพริกไทยอ่อน น้ำพริก กุ้งผัดกะปิสะตอ หอยนางรม วายคั่ว สละลอยแก้ว ปลาทอดขมิ้น และกุ้งแม่น้ำ  Soft Power ด้านการแสดง ได้แก่ หนังตะลุง ระบำสิริพัตราสุราษฎร์ธานี โนรา ระบำดอกบัวแดง มวยไชยา และระบำนางสองแขน ตลอด Soft Power ด้านสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ สวนโมกขพลาราม วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เขื่อนรัชชประภา และเกาะสมุย