In Thailand

ศาลจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับศาลเยาวชนฯ จัดกิจกรรมวันรพีประจำปี2566



ศรีสะเกษ-ศาลจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมวันรพี ประจำปี 2566 เพื่อรำลึกถึงพระบิดาแห่งกฎหมายไทย 

เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าอาคารศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ นายเชิดพันธ์ อุปนิสากร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีงานวันรพี ประจำปี 2565 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ในฐานะผู้เริ่มต้นวางรากฐานด้านกฎหมาย และวางรากฐานการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทย โดยมี นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมในพิธีวางพวงมาลา พร้อมด้วย นางอรุณีย์ ปัทมามาลย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นางสาวขนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ดร.ศรีววณ เกียรติสุรนนท์ ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ อัยการจังหวัด อัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัด อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัด ยุติธรรมจังหวัด ผู้แทนนายก อบจ. ผู้แทนนายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ผู้แทน ผอ.ป.ป.ช.ประจำจังหวัด ประธานสภาทนายความจังหวัด หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมวางพวงมาลาถวายความระลึก

สำหรับพิธีการ จัดให้มีพิธีทางศาสนาโดยนิมนต์พระสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ พร้อมถวายภัตตาหารเช้า และเครื่องปัจจัยไทยธรรม จากนั้นเป็นพิธีถวายเครื่องราชสักการะหน้าพระอนุสาวรีย์ “บิดาแห่งกฎหมายไทย”พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417 เมื่อทรงพระเยาว์ทรงเข้ารับการศึกษาภาษาไทย และภาษาอังกฤษจนรอบรู้เชี่ยวชาญ ในปลายปีพุทธศักราช 2431 ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ทรงสอบไล่ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมายในเวลา 3 ปี

ในขณะนั้นที่มีพระชันษาเพียง 20 พรรษา นับว่าทรงพระเยาว์สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี แต่เนื่องจากมีความจำเป็นของประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับสั่งเรียกพระองค์กลับ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2439 ตลอดเวลา 14 ปี ทรงดำเนินกิจการงานราชการของกระทรวงยุติธรรม ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะเข้มแข็ง ยังผลให้งานราชการของกระทรวงยุติธรรม เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์ทรงจัดให้มีการรวบรวมชำระสะสางจัดวางบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ทันสมัยเพียงพอแก่ความต้องการของบ้านเมืองและสังคม และทรงบังคับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บังเกิดผลให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงของศาลสถิตยุติธรรม ดำเนินไปอย่างมีระเบียบ สะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกศาลในราชอาณาจักร ทั้งมีความเจริญทัดเทียมกับเหล่านานาอารยประเทศ และให้มวลเหล่าประชาราษฎร์ได้มีโอกาสศึกษาบทกฎหมายง่ายยิ่งขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2440 ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น เปิดสอนวิชากฎหมายเป็นแห่งแรก โดยขอยืมสถานที่ของกระทรวงยุติธรรมเป็นสถานที่สอน และได้ทรงประทานเวลามาสอนวิชากฎหมายให้แก่นักเรียนด้วยพระองค์เอง ทรงรวบรวมและแต่งตำรากฎหมายในลักษณะต่างๆไว้มากมาย เป็นรากฐานอันสำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และทำให้ผู้มีความรู้ทั้งหลายได้เลื่อมใสวิชากฎหมายมากยิ่งขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสด็จสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พุทธศักราช 2463 ด้วยพระชนม์มายุ 47 พรรษา ในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นวาระวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์

ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง นักนิติศาสตร์ทั้งหลายจึงขอน้อมรำลึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีปกแผ่ตั้งแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบัน นักนิติศาสตร์ได้เทิดทูนและสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน และขอได้พึงช่วยกันจรรโลงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งพวกเรามีอยู่ในสายเลือดแล้วให้ปรากฏสืบนานเท่านาน เพื่อความสงบสุขของเหล่าประชาราษฎร์ทั้งหลายทั้งปวง

ลักขณา กงแก้ว ผู้สื่อข่าว จ.ศรีสะเกษ/รายงาน