In News
'แลนด์บริดจ์ไทย'เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน รัฐฯลุยทำประชาพิจารณ์16-18ส.ค.นี้
กรุงเทพฯ-อภิมหาความเจริญ! ยุครัฐบาลประยุทธ ดัน “แลนด์บริดจ์ไทย เปลี่ยนทิศการขนส่งโลกมาไทย” หวังอนาคตรองรับเรือขนส่ง 400,000 ลำต่อปี เชื่อประชาชนในพื้นที่ร่วมแสดงความเห็น 16-18ส.ค. นี้ร่วมกัน
วันนี้ 13 สิงหาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการเเลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่จ.ระนอง และจ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลาดังนี้
ท่าเรือระนอง
วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
และท่าเรือชุมพร ในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” น.ส.ทิพานัน กล่าว