In News

ระอุ!3ผู้ชิงนายกฯนครอุดรฯขอคะแนนโค้งสุดท้าย



อุดรธานี- โค้งสุดท้าย 3 ผู้สมัครนายกนครอุดรเร่งหาเสียงขอคะแนน ก่อนถึง 28 มีนาคม 2564 ลุ้นใครเข้าวิน



 วันที่ 27 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี วันที่   ซึ่งเป็นโค้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ทั่วประเทศ ในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม นี้ โดยการเลือกตั้งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ การเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ที่มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่ง 3 คน จาก 3 กลุ่ม คือ หมายเลข 1 นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ  กลุ่มนครหมากแข้ง , หมายเลข 2 นายวีระวัฒน์ ไวยยานุวัตต์ กลุ่มพลังอุดร และ หมายเลข 3 นายธนาดร พุทธรักษ์ กลุ่มรักษ์เมืองอุดรธานี ที่ผู้สมัครทั้ง 3 คน ต่างเร่งลงพื้นที่หาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อหวังโกยคะแนนจากชาวบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเต็มที่ 

โดยบรรยากาศการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายเป็นไปด้วยความคึกคัก ผู้สมัครทั้ง 3 คน ที่เร่งหาเสียงขอคะแนน ที่มีทั้งการเดินเคาะประตูบ้านขอคะแนน ทั้งขึ้นรถแห่หาเสียง ทั้งการติดป้ายหาเสียงของแต่ละกลุ่มเต็มไปทั่วเมือง ที่ชูนโยบายของแต่ละกลุ่ม ที่จะให้ถูกใจชาวบ้าน หวังจะได้คะแนนเข้ามานั่งบริหารเทศบาลนครอุดรธานี รวมทั้งผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล ทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ชาวบ้านจะพอใจนโยบายของผู้สมัครกลุ่มไหน 

สำหรับจังหวัดอุดรธานี ที่มี  20 อำเภอ มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล รวม 71 แห่ง มีผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกฯรวม 188 คน จากเก้าอี้นายก 71 คน ส่วนสมาชิกมีสมัครรวม 2,129 คน แต่มีเก้าอี้รองรับ 982 คน มีเทศบาลที่มีผู้สมัครนายกมากที่สุด 5 คน โดยอยู่ในเทศบาล 4 แห่ง คือ เทศบาลเมืองบ้านดุง อ.บ้านดุง , เทศบาลตำบลหนองบัว อ.เมือง , เทศบาลตำบลหนองไผ่ อ.หนองหาน และ ทเทศบาลตำบลวังสามหมอ อ.วังสามหมอ และมีเทศบาลที่มีผู้สมัครนายกเพียง 1 คน มากถึง 5 เทศบาล คือ เทศบาลตำบลหนองเม็ก อ.หนองหาน , เทศบาลตำบลโคกสูง อ.หนองหาน , เทศบาลตำบลเพ็ญ อ.เพ็ญ , เทศบาลตำบลสร้างก่อ อ.กุดจับ และ เทศบาลตำบลโนนทอง อ.นายูง 

นายกิตติคุณ ศิริโยธา ผอ.กกต.อุดรธานี เปิดเผยว่า เทศบาลจำนวน 5 แห่ง ที่มีผู้สมัครตำแหน่งนายกเพียง 1 คน โดยทั้ง 5 เขตเลือกตั้ง ยังคงมีการหย่อนบัตรเลือกตามปกติ ซึ่งผลการเลือกตั้งต้องดูที่คะแนน คือ ผู้สมัครจะต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า “โหวตโน” หรือที่กาเลือกไม่ประสงค์ลงคะแนน  และผู้สมัครจะต้องได้คะแนนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล ที่มีเกินกว่าจำนวนเก้าอี้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะต้องมีคะแนนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มีสิทธิด้วย (เกิดขึ้นที่ จ.ระนอง ในการเลือกตั้งนายก อบจ.)

กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี