In News
เคาะร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีSMEเอเปค เสริมแกร่งเอสเอ็มอี21เขตศก.ถก21ส.ค.นี้
กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรี SME เอเปค เสริมแกร่งเอสเอ็มอี 21 เขตเศรษฐกิจ เปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ BCG ไทยร่วมประชุม 21 ส.ค.นี้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 29 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ซึ่งจะมีการจัดประชุมขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างอนาคต ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน” (Creating a Resilient and Sustainable Future for All) โดยที่ประชุมจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงเพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปคในครั้งนี้
ร่างถ้อยแถลงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการสร้างเส้นทางสู่การเติบโตของ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และการบูรณาการ SME เข้ากับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ - ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน - ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของ SME ใน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนี้
1.การขับเคลื่อนให้ชุมชนเอเชียแปซิฟิกเปิดกว้าง มีพลวัตร ยืดหยุ่น มีความสงบสุข เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต และมีความครอบคลุมถึงสตรี อาทิ ส่งเสริมโอกาสและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ที่สตรีเป็นเจ้าของหรือผู้นำ เป็นต้น
2.การแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีเอเปค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าโลก รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ BCG โดยการส่งเสริมนโยบายและความร่วมมือเชิงเทคนิค และสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และสากล รวมถึง MSMEs สตรี และกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
3.การเสริมสร้างความร่วมมือในการสนับสนุน SME และการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของ MSMEs ให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน โดยมุ่งเชื่อมโยง SME กับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าโลก ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า ตลอดจนดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจรูปแบบ BCG และดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและมีจริยธรรม รวมถึงสนับสนุนให้บุคคลที่ขาดโอกาส เช่น สตรี ชนพื้นเมือง และคนพิการ ฯลฯ สามารถใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่