In Thailand

พลังงานชู'สุราษฎร์ฯ'นำร่องSmart City เดินหน้าแผนพลังงานอัจฉริยะจว.แรก



กรุงเทพฯ-วันนี้ (17 ส.ค. 66) นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี ให้การต้อนรับและร่วมกับ นายเพทาย หมุดธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดการสัมมนา “การขับเคลื่อนเมืองสู่ Smart City ด้านพลังงาน” ที่โรงแรมไดมอนท์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฏธานี  ในระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2566    ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจหลักการและแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจงานและบริหารจัดการเมืองสู่ Smart City โดยมี ตัวแทนจากส่วนราชการในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี บุคลากรจากกระทรวงพลังงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมกว่า 100 คน ร่วมกิจกรรม

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน  เผยว่า กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้ พลังงานของประเทศได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) นับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญจาก 7 กรอบแนวทางของเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City โดยแนวทางการพัฒนาเมืองด้าน smart energy สามารถดำเนินการโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงานอย่างสูงสุดแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้ นอกจากจะเกิดกับหน่วยงานที่ดำเนินการเองแล้ว ยังตอบโจทย์กลยุทธ์สำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

กระทรวงพลังงาน ได้เห็นถึงศักยภาพของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดหลักการและแนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นจังหวัดแรกของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจงานและบริหารจัดการ เมืองสู่ Smart City โดยเฉพาะในมิติด้านพลังงาน ซึ่งมี วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมให้ความรู้และนำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินงานเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาเมืองไปสู่เมือง Smart City 

ด้าน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้เตรียมความพร้อมเพื่อตอบรับนโยบาย Smart City ผ่านคณะอนุกรรมการจัดทำแผนด้านพลังงานอัจฉริยะของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมา จังหวัดก็ได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ (Depa) จัดทำแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยในแต่ละปี มีการเปิดโอกาสให้เมืองต่างๆ ยื่นข้อเสนอ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะ ภายใต้กรอบการพัฒนาใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลเมือง ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเดินทางและขนส่ง ด้านพลังงาน และด้านการบริหารภาครัฐ ทั้งนี้ ในปี 2565 มีเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้งหมดจำนวน 15 เมือง ใน 14 จังหวัด และได้รับมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566