Travel Sport & Soft Power

CEAผลักดัน6กลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ในงาน'PakkTaii Design Week2023'



นับถอยหลังอีก 2 วัน สำหรับ“เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “PakkTaii Design Week 2023” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก ในจังหวัดสงขลา ตรัง และปัตตานี ชวนชาวปักต์ใต้กลับบ้านมา สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทิ้งรากเหง้า ภายใต้แนวคิด ‘The Next Spring หลบเริน แล้วผลิบาน’ แสดงพลังสร้างสรรค์ ร่วมขับเคลื่อนเมืองจากภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ให้เป็น ‘เมืองที่ดี’ กล่าวคือ ‘เมืองที่มีรายได้’ พร้อมจับมือกลุ่มคนสร้างสรรค์และตัวแทนผู้ขับเคลื่อนเมืองจากภาคใต้ ร่วมดึงศักยภาพของวัฒนธรรมและสินทรัพย์ในภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแห่งความหวังและความเป็นไปได้ครั้งใหม่

คุณศิริอร หริ่มปราณีรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา กล่าวว่า “เทศกาลฯ เป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ค้นหา ตีโจทย์ และเพิ่มคุณค่าให้ทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายของภาคใต้ในบริบทสมัยใหม่ ภูมิภาคนี้มีจุดเด่นหลากหลาย ทั้งด้านอาหาร ภูมิปัญญา อาคารบ้านเรือน การออกแบบ และมหรสพ ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้จะถูกต่อยอดและเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมถูกแช่แข็งและไม่ทิ้งตัวตนเดิม ที่สำคัญจะต้องช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่ด้วย”

รวมไฮไลต์ 6 กลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่และตัวแทนผู้ขับเคลื่อนเมือง ผลักดันปักษ์ใต้ให้เป็นเมืองที่ผลิบาน รับการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ทิ้งรากเหง้า

อับดุลกะริม ปัตนกุล และเอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ผู้ก่อตั้ง SoulSouth Studioสตูดิโอออกแบบกราฟิกจากจังหวัดยะลาที่ก่อตั้งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยทำงานกับธุรกิจดั้งเดิมในภูมิภาคใต้ ทั้งการออกแบบอัตลักษณ์ใหม่ให้กับธุรกิจและการให้คำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นร้านขนมจงดี​ร้านเกียดฟั่ง และโรงพิมพ์ทวีทรัพย์ นอกจากนี้ยังเคยเข้าร่วมเป็นดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานออกแบบในงาน Made in Songkhlaปี 2021 และเคยร่วมงานกับบริษัท Citizen Best.sfที่ซานฟรานซิสโก และบริษัท Belkooที่มาเลเซีย ภายในเทศกาลฯ สามารถพบกับผลงานการคิวเรจของ SoulSouth Studio ได้ที่นิทรรศการ ‘Chinese Spring - Spirit’ ณ สมาคมฮกเกี้ยน มาดูกันว่าเด็กหนุ่มเชื้อสายมุสลิมจากจังหวัดยะลา จะมาบอกเล่าเรื่องราว ‘จิตวิญญาณ’ ของคนจีนในสงขลาที่ฝังรากลึกมาตลอดหลายร้อยปี ท่ามกลางความหลากหลายของคนจีนต่างกลุ่มภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนความท้าทายเมื่อต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายยุคสมัยได้น่าติดตามอย่างไร

ไพสิฐ หวังรังสีสถิตย์ผู้กำกับที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ โดยครอบครัวมีพื้นเพเป็นคนเบตงเชื้อสายจีนจากจังหวัดยะลา และต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ไพสิฐเคยมีผลงานกำกับสารคดีเรื่อง ‘อาผ่อ’ ที่เล่าเรื่องของครอบครัวยายของตัวเองที่ต้องอพยพหนีน้ำแล้วก่อร่างสร้างตัวใหม่ จนวันหนึ่งที่ภาคใต้แห้งแล้งที่สุดในรอบ 40 ปี สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัลจากไทยพีบีเอสและหอภาพยนตร์ และนำไปฉายในโปรแกรม Deep South ที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น

พบกับผลงานของไพสิฐได้ในสารคดี ‘C for Singora’ ประกอบนิทรรศการ ‘Chinese Spring - Bloom’ ว่าด้วยเรื่องของชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายมาตั้งรกรากในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ประกอบกับการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันของกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนแต่ละยุคในสงขลา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ทุกคนต่างใช้ชีวิตเพื่อสิ่งที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด สารคดีเล่าเรื่องราวการผลิบานของเมล็ดพันธ์ุที่ได้ฝังเอาไว้ และสำรวจลงไปถึงรากลึกที่ก้าวผ่านระยะเวลามานานจากกลุ่มคนจีนในสงขลาในแต่ละยุคสมัย รวมทั้งแนวคิดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ว่าจะเผชิญปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทุกคนล้วนทำให้มันออกมางดงาม และสารคดีสั้นของชาวจีนทั้ง 5 เหล่าจาก 5 ครอบครัว ประกอบนิทรรศการ ‘Chinese Spring - Spirit’ ดึงจุดเด่นของคนจีนแต่ละกลุ่มเหล่าภาษามาใช้เล่าในแบบฉบับของตัวเอง โดยเป็นนิทรรศการที่ไพสิฐร่วมเล่าประวัติเบื้องลึกของคนจีนพร้อมกับศิลปินท่านอื่น ๆ เพื่อร่วมกันออกแบบนิทรรศการและผสมผสานการเล่าเรื่องให้ออกมาลงตัวที่สุด

กัณห์ ไตรจันทร์ผู้ก่อตั้ง Southson Designนักออกแบบรุ่นใหม่ชาวใต้ ผู้นำองค์ประกอบและอัตลักษณ์ขององค์ประกอบทางวัฒนธรรมปักษ์ใต้ มาปรับใช้ในการทำงานออกแบบในโครงการหลากหลายประเภท ตั้งแต่บ้านพักส่วนตัวไปจนถึงร้านค้าปลีกในห้างสรรพสินค้า เขายังทำงานร่วมกับธุรกิจท้องถิ่น เช่น การออกแบบอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับร้านเต้าหู้ยี้เสวย และร้านป้ามล ขนมไข่เตาถ่าน เมืองสงขลา นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ของโครงการ Made in Songkhlaปี 2021 อีกด้วย ภายในเทศกาลฯ Southson Design รวมตัวกับทีมดีไซน์หลายทีม ประกอบด้วย One.dd ทีมออกแบบทางสถาปัตยกรรม, Verywhereทีมออกแบบ branding และ NIMINTRA MINTRASAK นักออกแบบแฟชั่นร่วมสมัย ในนิทรรศการรีบอร์น-บอร์นเฮีย เปอรานากัน ณ บ้านเขียนเจริญ โดยนำเสนอการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบกราฟิก เพื่อนำเสนอมิติใหม่ของความเป็นเปอรานากันในยุคปัจจุบัน

วิศรุต และมนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณผู้ก่อตั้ง Sarnsardผู้เล็งเห็นศักยภาพงานฝีมือจากเทคนิคการจักสานของช่างฝีมือและวัสดุในท้องที่จังหวัดตรังอย่างเตยปาหนัน และนำมาต่อยอดด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่ให้ความรู้สึกร่วมสมัย ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์จาก Sarnsardได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (Department of International Trade Promotion (DITP) ให้เป็นตัวแทนดีไซเนอร์ไทยจัดแสดงผลงานที่มิลาน ประเทศอิตาลี ปารีส ประเทศฝรั่งเศส และดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัจจุบัน Sarnsardได้รวมกลุ่มกับนักสร้างสรรค์ในจังหวัดตรัง ภายใต้ชื่อทีมงาน ‘หัวบอน’ จัดงาน “เถตรัง ครีเอทีฟ วีก ครั้งที่ 1 เทศกาลสร้างสรรค์ของนักเถ” ณ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 โดยจัดแสดงผลงาน Made in Trangที่ชาวตรังยังคาดไม่ถึง เช่น PlanToysของเล่นไม้ที่เสริมสร้างประสบการณ์การเล่นให้กับเด็ก เครื่องประดับจากลูกปัดมโนราห์ ผ้ามัดย้อมบ้านเกาะสุกร ผลงานเซรามิกจาก Dandin Ceramic ฯลฯ

อณวิทย์ จิตรมานะหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง HatyaiConnextที่เข้าร่วมพลิกฟื้นเมืองหาดใหญ่ ด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมเดินเมือง Hatyai Happens และล่าสุดอย่างงานทดลองพัฒนาพื้นที่ในเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 ‘Revisiting Kimyongกลับมากิมหยงอีกครั้ง’ โดยดึงผู้ร่วมขับเคลื่อนต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมให้ได้มากที่สุด เพื่อผลักดันและสร้างผลกระทบให้กับเมืองในระยะยาวได้ รวมทั้งทำให้เกิดผลประโยชน์ที่ต่อเนื่อง การจัดเทศกาลฯ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้หาดใหญ่กลับมาเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาอีกครั้ง สร้างแรงกระตุ้นสำคัญที่จะนำพาปักต์ใต้ให้กลับมาผลิบาน สร้างระบบนิเวศให้นักสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้ต่อยอดในสิ่งที่ตนเองสนใจ รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกแก่ผู้อยู่นอกระบบนิเวศสร้างสรรค์ เช่น พ่อค้า แม่ค้า และคนในพื้นที่โดยรอบ

เครือข่ายนักรบผ้าถุงจะนะและนิ้วแดงสตูดิโอโดย ศุภวรรณ ชนะสงคราม ที่ปรึกษาเครือข่ายนักรบผ้าถุงจะนะ รวมไปถึงสะบิเด๊าะ ชายหัด และ ฮาบีบ๊ะ เสะยามา นักรบผ้าถุงจะนะ ที่มุ่งพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวประมงจะนะ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมจะนะ ในมุมมองใหม่ ๆ เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายสำคัญที่มีส่วนร่วมในเทศกาลฯ โดยนำเสนอนิทรรศการ ‘ส็อกแส็ก’ เรื่อง… น้อยนิด มหาศาล ชวนร่วมค้นหามุมมองใหม่ในการหยิบเอา “ส็อกแส็ก” (สัตว์น้ำหรือสิ่งติดอวนที่ไม่มีมูลค่า) มาเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อเปลี่ยนสิ่งของที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่เกินตัว ผู้เข้าร่วมงานสามารถทำเวิร์กช็อปและชิมเมนูสุดพิเศษจากส็อกแส็กได้ ที่ร้านกาแฟ LoremIpsumถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 หาดใหญ่

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วม “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “PakkTaii Design Week 2023” ตั้งแต่วันนี้ - 20 สิงหาคม 2566 ใน 3 พื้นที่หลักของจังหวัดสงขลาได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา ท่าเรือแหลมสน ชุมชนหัวเขา และตัวเมืองหาดใหญ่ พร้อมกับกิจกรรมในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ได้แก่ ย่านทับเที่ยง จังหวัดตรัง และย่านอา-รมย์-ดี จังหวัดปัตตานีทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.pakktaiidesignweek.com/ptdw2023, Facebook: PakkTaii Design Week, Instagram: pakktaiidesignweek