In News

อัปเดตส่งออกไทยเดือนมิ.ย.ครึ่งแรกปี66 สินค้าอุตฯโต68.7%-5สินค้าเกษตรมาแรง



กรุงเทพฯ-ครม. รับทราบรายงานส่งออกไทยประจำเดือนมิ.ย. และครึ่งแรกปี 66 สินค้าอุตสาหกรรม “อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด” ขยายตัวสูงถึง 68.7% สินค้าเกษตร 5 ประเภท น้ำตาลทราย-ผลไม้-ไอศกรีม-ไก่-เครื่องดื่ม ขยายตัว

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกไทยประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย และเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การผลิตและการบริโภคจึงยังคงตึงตัว คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 และหดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการขยายตัว จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกได้ในระยะนี้

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าสำคัญหลายประเภทที่ขยายตัว อาทิเช่น
1. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 68.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเก๊า
2. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง และไต้หวัน
3. อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี
4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 30.3 โดยขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง
5. แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 โดยขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฟิลิปบินส์
6. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเขีย และชาอุดีอาระเบีย

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
1. น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน
2. ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
3. ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 11.3 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
4. ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และสหราช
อาณาจักร
5. เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน ลาว และมาเลเซีย
 
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมาเพื่อมาตรการส่งเสริมการส่งออก อาทิ

1.กิจกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ เช่น จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2023 ณ เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฎกะ สาธารณรัฐอินเดีย, เข้าร่วมงาน Western China International Fair (WCIF) ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน, นำผู้แทนการค้า (Trade Mission) ไปเจรจาการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา ชิลี บราชิล), เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2023 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมงานเทศกาล Annecy International Animation Film Festival 2023 เป็นต้น

2. ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบทั้ง 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด ไทย-กัมพูชา 7 จุด ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเขีย 9 จุด เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่งสินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเบิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ” น.ส.ทิพานัน กล่าว