In News
ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการ ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่43/21ฉบับ
กรุงเทพฯ-ครม. เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง 21 ฉบับ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 ฉบับ โดยอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 มีกำหนดจัดการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 2-7 กันยายน 2566 นี้ โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ดังนี้
1) เอกสารที่ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ประกอบด้วย
- ฉบับที่ 1 ร่างปฏิญญาจาการ์ตา “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” เป็นเอกสารผลลัพธ์หลักของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้ความสาคัญต่อความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยยึดมั่นในหลักการที่จะร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ การรักษาความสำคัญของบทบาทอาเซียนในภูมิภาค การส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต และการดำเนินการตามมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
- ฉบับที่ 2-6 กลุ่มเอกสารของผู้นำอาเซียน และประเทศสมาชิกในการแสดงเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อาทิ ด้านสิทธิมนุษยชน การเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของอาเซียน การดูแลและการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย การพัฒนาที่ครอบคลุมถึงความพิการ และความเสมอภาคระหว่างเพศและการพัฒนาครอบครัว
- ฉบับที่ 7-10 กลุ่มร่างเอกสารเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร และโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคี คู่เจรจา ประกอบด้วย ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน - แคนาดาว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ และร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียน – อินเดียว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ
- ฉบับที่ 11-16 กลุ่มร่างเอกสารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศภาคีคู่เจรจาในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - แคนาดา ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน – อินเดียว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (อาเซียน - จีน) ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน - สหรัฐฯ ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน - ญี่ปุ่น และ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 24 ว่าด้วยความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP)
- ฉบับที่ 17 ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการรักษาและส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและเอเชียตะวันออก
2) ร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย
- ฉบับที่ 18-19 ร่างหนังสือให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เป็นเอกสารที่ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะลงนามเพื่อให้ความยินยอมต่อการภาคยานุวัติสนธิสัญญา TAC ของเซอร์เบีย และคูเวต
- ฉบับที่ 20-21 ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ร่างเอกสารผลลัพธ์ฯ ทั้ง 21 ฉบับ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม ม.178 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเป็นไปตามเงื่อนไขของ ม.169 ของรัฐธรรมนูญ คือ ไม่เป็นกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป และร่างเอกสารทั้ง 21 ฉบับ เป็นร่างเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาในการส่งเสริมความร่วมมือ และต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อไทยแต่อย่างใด