In Bangkok
กทม.พัฒนระบบจัดการ ด้านสธ.เขตเมือง เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคที่มียุงลาย
กรุงเทพฯ-กทม.พัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง พร้อมเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต พัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5 ป 1 ข คือ (1) ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ (2) เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง (3) ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย (4) ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง (5) ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และ 1 ข ขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ และ “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม (Big Cleaning Day) ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง
นอกจากนั้น สนอ.ยังร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมโครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรค พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนของตนเอง รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมความรู้วิธีป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด และวิธีสังเกตอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้เพิ่มความระมัดระวังตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไวรัสซิกา ซึ่งสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาลสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ตลอดจนกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลและชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้ผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลและชุมชน รอบโรงพยาบาล สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนัก ทางด้านสุขภาพ วินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมทั้งรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2 - 7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดสำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในโรงพยาบาลและบริเวณโดยรอบโรงพยาบาล รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัด พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ในการให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล และสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง รวมทั้งสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง