In Bangkok

กทม.ส่งเสริมการจัดการมูลฝอยที่ต้นทาง ผลักดันโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่



กรุงเทพฯ-(23 ส.ค.66) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนนโยบายต่อยอดโครงการส่งเสริมการจัดการมูลฝอยที่ต้นทาง โดยร่วมกับสำนักงานเขต ส่งเสริม สนับสนุนพัฒนาชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีส่วนร่วมในการจัดการมูลฝอยที่ต้นทางเพื่อเป็นการลดขยะในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “Zero Waste” และส่งเข้าร่วมประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) หรือโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ประจำปี 2566 ของกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบระดับประเทศ ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) จำนวน 3 ชุมชน และโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) จำนวน 2 โรงเรียน

สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำโครงการส่งเสริมชุมชนด้านการจัดการมูลฝอยที่ต้นทางและแผนงานสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการมูลฝอย โดยสนับสนุนให้ชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการจัดการมูลฝอยที่ต้นทาง นำแนวคิด “Zero Waste” หรือ “การจัดการขยะเหลือศูนย์” ตามหลัก 3Rs คือ Reduce หรือ การลดปริมาณขยะ Reuse หรือ การใช้ซ้ำ และ Recycle หรือ การนำกลับมาใช้ใหม่ มาใช้ในการจัดการมูลฝอยในชุมชนและโรงเรียน 

สำนักสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ลงพื้นที่สำรวจและร่วมพัฒนาชุมชนและโรงเรียน เพื่อส่งเข้าร่วมประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) หรือโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ของกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 ได้เปิดรับสมัครและให้ส่งผลงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ 30 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา มีชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) จำนวน 44  ชุมชน จากชุมชนที่ส่งเข้าร่วมทั้งประเทศ 109 ชุมชน ผ่านเกณฑ์คัดเลือกรอบที่ 1 จำนวน 20 ชุมชน แบ่งประเภทได้ ดังนี้ ชุมชนกลุ่ม L เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากร 1,000 คน ขึ้นไป จำนวน 3 ชุมชน ชุมชนกลุ่ม M เป็นชุมชนขนาดกลาง มีประชากร 501 – 1,000 คน จำนวน 6 ชุมชน และชุมชนกลุ่ม S เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีประชากรไม่เกิน 500 คน จำนวน 11 ชุมชน

ในส่วนของโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าร่วมประกวดโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) จำนวน 113 โรงเรียน จากโรงเรียนที่ส่งเข้าร่วมทั้งประเทศ 1,808 โรงเรียน ผ่านเกณฑ์คัดเลือกรอบที่ 1 จำนวน 14 โรงเรียน แบ่งประเภทได้ ดังนี้ โรงเรียนกลุ่ม A เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 13 โรงเรียน และโรงเรียนกลุ่ม B เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1 โรงเรียน 

โดยเมื่อวันที่ 21 ส.ค.66 กรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศผลการคัดเลือกชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) และโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ปี 2566 ระดับประเทศ ครั้งที่ 1 ปรากฎว่ามีชุมชนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ จำนวน 3 ชุมชน ประกอบด้วย กลุ่ม S ชุมชนขนาดเล็ก ได้แก่ ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ กลุ่ม M ชุมชนขนาดกลาง ได้แก่ ชุมชนสงวนคำ เขตหนองแขม  และกลุ่ม L ชุมชนขนาดใหญ่ ได้แก่ ชุมชนการค้าหนองแขม เขตหนองแขม สำหรับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ จำนวน 2 โรงเรียน ประกอบด้วย กลุ่ม A โรงเรียนระดับประถมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนมนต์จรัสสิงห์อนุสรณ์ เขตหนองแขม และกลุ่ม B โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเซนต์เทเรซา เขตหนองจอก ซึ่งกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะลงพื้นที่จริง เพื่อพิจารณาตัดสินรางวัลระดับประเทศรอบสุดท้าย ในช่วงเดือนกันยายน 2566 และจะประกาศผลรางวัล ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนทุกคนร่วมเเสดงความยินดีและส่งกำลังใจเชียร์ชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ในการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) และโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ให้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศต่อไป