In News

กทม.ขออภัยชาวกรุงเทพฯปัญหาน้ำท่วม มั่นใจรับมือพายุลูกใหม่7-9ต.ค.นี้เอาอยู่



กทม. ขออภัยประชาชนเหตุปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา เตรียมพร้อมรับฝนระลอกใหม่มั่นใจไม่เกิดซ้ำ ระดมสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 50 เขตรับมือเต็มพิกัด

(5 ต.ค.63) : นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงผลการประชุมติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 25 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศ เรื่อง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเข้าบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยจะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ทำให้บริเวณดังกล่าวอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบางแห่งในช่วงวันที่ 7-9 ต. ค. 63 ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักดังกล่าว  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 50 เขต โดยมอบหมายนโยบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในส่วนของสำนักงานเขต 50 เขต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโยธา ฝ่ายพัฒนาชุมชน ฝ่ายเทศกิจ ทุกคนต้องลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบ ประชาสัมพันธ์ ให้ความช่วยเหลือและและอำนวยความสะดวกประชาชน พร้อมทั้งได้กำชับสำนักการระบายน้ำ จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดอ่อนและจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และให้ประสานสำนักการโยธาเตรียมความพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ให้พร้อมสนับสนุนในกรณีที่มีการร้องขอด้วยเหตุจำเป็นหรือเครื่องมือไม่เพียงพอ

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครมั่นใจว่าในอนาคตหากฝนตกในปริมาณที่มากกว่า 100 มม. อย่างน้อยจะสามารถระบายน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากที่เคยใช้เวลา 3 ชั่วโมงอาจจะลดเวลาลงเหลือ 1-2 ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับสภาพแต่ละพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง  สำหรับการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัญหาอุปสรรคหลักๆ อยู่ที่พื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่เอกชน  ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างอย่างเต็มที่ จึงเกิดเหตุปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง 

ด้านโฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับกรณีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครต้องขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครขอรับความผิดนี้ไว้ ขอความกรุณาอย่าไปโทษเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเก็บขยะ เจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์ ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว อย่างไรก็ดีคาดว่าเราจะยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝนอีกประมาณ 25 วัน  ซึ่งในที่ประชุม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังได้ยังเน้นย้ำถึงการให้บริการ อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วย อาทิ การรับส่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งดูแลด้านอื่นๆ ที่สามารถทำได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงเวลาน้ำท่วม ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากรุงเทพมหานครจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมให้ได้

ในส่วนของที่ปรึกษาฯ สมพงษ์ กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเก่า ท่อระบายน้ำได้ก่อสร้างมานานแล้ว บางท่อมีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30-60 ซม. ส่วนขนาดใหญ่สุดประมาณ 80 ซม. ซึ่งแต่เดิมได้ออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำฝนในปริมาณที่ฝนตกไม่เกิน 60 มม./ชม. แต่ปัจจุบันฝนที่ตกลงมามีปริมาณมากกว่า 100 มม./ชม.ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด อย่างเช่นการสร้างหรือปรับปรุงถนนใหม่ กำหนดให้มีการวางท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.20 ม. รวมถึงการก่อสร้างท่อลอด Pipe Jacking จะใช้ท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.20 ม. เช่นกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่คูคลองต่อไป 


ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วม กรุงเทพมหานครได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพิ่มเติม รวมทั้งได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตพื้นที่ในการเข้าประจำจุดเครื่องสูบน้ำล่วงหน้า 2 ชั่วโมงก่อนฝนจะตก เมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมว่ากลุ่มฝนกำลังเคลื่อนตัวเข้าไปยังพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ยังได้ลดระดับน้ำในคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับปริมาณน้ำฝน ตลอดจนการเก็บขยะบริเวณสถานีสูบน้ำและตระแกรงรับน้ำฝนด้วย