Health & Beauty

แกนนำการแพทย์แผนไทยรพ.อภัยภูเบศร สิ่งที่ต้องการจาก'นายกฯเศรษฐา'



ปราจีนบุรี-แกนนำการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรอยากเห็น-ต้องการจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี-รัฐบาลใหม่

เมื่อเวลา19.40 น.วันนี้24 ส.ค.66 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า  สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรี -รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นความหวังด้านเศรษฐกิจ  ได้ลงพื้นที่มาที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี ด้านหน้าร้านจำหน่ายสมุนไพรอภัยภูเบศรตรงข้ามตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  ติดต่อขอสัมภาษณ์พิเศษทรรศนะ  ทางด้านการแพทย์แผนไทยจาก  ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ผลักดันการพัฒนาสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง 

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ตลาดสมุนไพรมีการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และในช่วงการระบาดของโควิ-19 ที่ผ่านมา สมุนไพร  ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้คนในชนบท  โดยประเทศไทยมีโอกาสสูงมากด้านการพัฒนาสมุนไพรทั้งแนวรับและแนวรุก คือทั้งการเป็นความมั่นคงด้านยาและความสามารถในการแข่งขัน ต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจัง ชัดเจนจากรัฐบาล   ซึ่งอยากได้ นโยบายและกลไกระดับชาติ ที่ครอบคลุมทุกมิติ มีเป้าหมายชัดเจน ทำได้จริง โดยมีกลไกดังนี้

ด้านการเงินการคลัง มีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในสัดส่วนที่ชัดเจนให้สถานบริการของรัฐในการซื้อยาจากสมุนไพรจ่ายให้ผู้ป่วย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการมีทุนจะสามารถวิจัยและพัฒนาต่อยอด ให้ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพ มาตรฐานสามารถแข่งขันในระดับสากลได้และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในที่สุด

ด้านการวิจัย ต้องหน่วยงานวิจัยสมุนไพรระดับชาติ เพื่อให้สามารถประสานงานความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ และใช้ทรัพยากรที่มีกระจายอยู่ในประเทศ  บริหารจัดการงบประมาณให้มีความคล่องตัวให้เกิดการจูงใจให้นักวิจัยที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน งานวิจัยต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีการทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง จนสำเร็จ ต้องทุ่มไปในสมุนไพรไม่กี่ตัว ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศโดยเฉพาะโรคเรื่องรังที่ต้องกินยาไปตลอด

กลไกด้านกฏหมาย/กฏระเบียบ ต้องทำให้กฎหมายสมดุล  ทั้งการส่งเสริมและการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องมีการพัฒนาบุคคลากรที่ทำหน้าดูแลข้อกฏหมายและผู้ประกอบการ ให้เข้าใจกฏหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ 2562 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับ 

กลไกด้านการบริการสุขภาพ ต้องมีการส่งเสริมการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก อย่างแข้มแข็งในทุกระดับ ซึ่งต้องมี จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์แผนไทย  4 ภาค   เพื่อพัฒนาบริการ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาและฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์แผนไทย เพื่อนำมาใช้ในระบบบริการ สร้างความรู้ สร้างแนวทางปฏิบัติ ให้กับหน่วยบริการอื่นๆ

กลไกด้านการตลาด การใช้สมุนไพร เป็น soft power ให้คนได้รู้จักสมุนไพรในมิติของวัฒนธรรม อัตลักษณ์  โดยเฉพาะด้านอาหาร  และการใช้ในวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย  และสร้างให้เกิดธุรกิจจากสมุนไพร ให้สมุนไพรอยู่ในทุกมิติของชีวิตและสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ การเป็นยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภํณฑ์สำหรับสัตว์ คนไทยมีความรู้มีความคุ้นเคยด้านสมุนไพรตั้งแต่เด็ก เกิดเป็นร้านอาหารสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มสมุนไพรในโรงเรียนแทนน้ำอัดลม สปาสมุนไพรไทย เป็นต้น

ประเทศไทยมีการส่งเสริมสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่พ.ศ. 2524 ในยุคการใช้ยุทธศาสตร์การสาธารณสุขมูลฐานในการพัฒนาประเทศ มีการพัฒนามาโดยตลอดจน ในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากการที่อาจเกิดโรคระบาด สภาวะสงครามได้ทุกเมื่อ และที่เห็นชัดคือคนไทยต้องใช้ยามีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆปัจจุบันมีมูลค่า เกือบ 200,000 ล้านบาท ประเทศไทยต้องเตรียมการเรื่องนี้  

ขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสในตลาดโลกความต้องการการแพทย์แนวธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ ประกอบกับประเทศไทยได้รับความนิยมในการมาท่องเที่ยว อาหารไทยก็มีชื่อเสียง อยู่แล้ว    จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างเศษฐกิจตลอดซัพพลายเชนลงถึงชุมชนได้อย่างยั่งยืน ในฐานะคนทำงานด้านสมุนไพรหวังกับร้ฐบาลชุดใหม่  และโดยเฉพาะนายเศรษฐา  ทวีสินนายกรัฐมนตรีคนที่ 30    ในการสานต่อและพัฒนาเพิ่มด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยอย่างเข้มแข็งต่อไป  ดร.ภญ.สุภาภรณ์กล่าวในที่สุด

มานิตย์  สนับบุญ/ปราจีนบุรี