In Bangkok
กทม.ร่วมหาแนวทางลดจำนวนคนสูบบุหรี ในพื้นที่กรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ-(24 ส.ค. 66) เวลา 13.30 น. นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันและบำบัดผู้เสพยาสูบกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการรวมฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับการคัดกรองการสูบบุหรี่และรับบริการช่วยเลิกบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลและเสนอกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นการรองรับ จัดการปัญหา หรือส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อการช่วยเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 65 - 31 พ.ค. 66 ในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครมีผู้ที่ได้รับการคัดกรอง 344,227 คน เป็นคนที่สูบบุหรี่ (ทั้งบุหรี่ก้นกรอง ยาเส้น และบุหรี่ไฟฟ้า) เป็นประจำ มีประมาณกว่า 26,800 คน คิดเป็นประมาณ 7-8% สูบแต่เลิกแล้ว 1,830 คน รวมถึงได้มีการให้บริการผู้เสพยาสูบ โดยให้คำแนะนำ 5,946 คน และบำบัด 2,197 คน ในส่วนของการคัดกรองในรูปแบบออนไลน์ พบผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 1,040 คน ให้บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ (สายด่วน 1600) รวม 931 คน
มติที่ประชุม รับทราบและให้มีการขยายผลการเก็บข้อมูลทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้มีตัวชี้วัดเป้าหมายสอดคล้องตามตัวชี้วัดของแผนแห่งชาติ อาทิ ผู้สูบบุหรี่ลดลง ผู้เข้าสู่กระบวนการบำบัดเพิ่มขึ้น ผู้เลิกบุหรี่ครบ 6 เดือนมีจำนวนมากขึ้น เป็นต้น พร้อมให้มีการออกแบบระบบเพื่อดำเนินการให้ถึงเป้าหมายต่อไป
จากนั้น ที่ประชุมได้นำเสนอเกณฑ์การดำเนินงานชุมชนบ้านปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครที่ได้มอบหมายให้สำนักอนามัยบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนร่วมกับการดำเนินงานชุมชนบ้านปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 1 เขต ต่อ 1 ชุมชน ซึ่งเกณฑ์การดำเนินงานฯ ดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางให้ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขต ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ร่วมดำเนินการ เช่น รณรงค์ประชาสัมพ้นธ์ ให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม ติดตามประเมินผล ให้การช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกสูบ/เลิกดื่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำสื่อและคลิปประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกรุงเทพมหานครซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของกรุงเทพมหานครไปแล้ว โดยมติที่ประชุมให้กรมประชาสัมพันธ์นำสื่อประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานครไปเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้มีการเสนอแนวคิดการจัดประกวดคลิปประชาสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน/นักศึกษาได้มีส่วนร่วมผลิตคลิปเข้าประกวดชิงรางวัลเป็นทุนการศึกษา ตลอดจนให้มีการพิจารณาแต่งตั้งทูตรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งติดต่อศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์
ต่อมา ที่ประชุมได้นำเสนอร่างมาตรการในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานครเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร และร่างข้อเสนอมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ โดยมุ่งผลักดันให้เกิดการใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างเคร่งครัดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และผู้แทนหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที่ (กรุงเทพมหานคร) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ร่วมประชุม