In Bangkok
'ศานนท์'วางวิชั่นใช้ Bangkok Brand ดันกรุงเทพสู่ศูนย์กลางศก.ของภูมิภาค
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ กทม. วางวิสัยทัศน์ใช้ Bangkok Brand ดันกรุงเทพสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมมอบรางวัล Bangkok Brand กับ 679 ผู้ประกอบการ
(29 ส.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงข่าวผลการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) 2023 และมอบประกาศเกียรติบัตร Bangkok Brand 2023 ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดสรรระดับ Premium ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ซึ่งกรุงเทพมหานครโดยสำนักพัฒนาสังคมจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร “Bangkok Brand” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์หลักประกันความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand จะมีการคัดเลือกทุก 2 ปี นโยบายผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดไว้ใน 216 ข้อ เรื่องเศรษฐกิจเป็นจุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายตั้งรับแล้วให้เอกชนเป็นผู้นำเรื่องนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วกทม.มีวิสัยทัศน์ที่อยากเป็น Regional Hub หรือคนที่ดึงดูดผู้ค้าหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ให้มาตั้งในกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันโอกาสหลักของกรุงเทพฯ คือการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปีที่แล้วกรุงเทพมหานครเป็นอันดับหนึ่งที่มีคนมาเยือนมากที่สุด จะใช้โอกาสนี้มาเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้มีเศรษฐกิจไหลเวียนลงสู่ชุมชนด้วย Bangkok Brand ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บางคนไม่รู้ว่าจะพัฒนายังไง ไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาด และคุณภาพ การเป็นผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand มีการแบ่งระดับต่าง ๆ ทำให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ของตนอยู่ในจุดไหนของตลาด การจัดงานนี้ทำให้ผู้ประกอบการรู้ตนเองและเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครือข่ายอื่น ๆ ที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วย
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า นโยบายต่อไปคือการทำให้เป็นอัตลักษณ์ของเมือง คือการทำนโยบาย Made in Bangkok ต่อยอดให้ดีขึ้น ใครที่มาเยือนกรุงเทพฯ กลับไปแล้วต้องคิดเลยว่าจะซื้อสิ่งนี้ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่เมืองจะต้องเข้ามาช่วยผู้ประกอบการ กรุงเทพมหานครไม่เก่งเรื่องการผลิตเท่าผู้ประกอบการแต่สามารถเชื่อมโยงภาคี แหล่งทุน การตลาด อีคอมเมิร์ส และเรื่องต่าง ๆ ได้
ส่วนการส่งเสริมเรื่องตลาดมีการจัดจำหน่ายในพื้นที่เขต เช่น ย่านสร้างสรรค์ ถนนคนเดิน ตลาดนัดชุมชน หรือตลาด Bangkok Brand เป็นต้น โอกาสหลักไม่ใช่ตลาดออฟไลน์ โอกาสหลักอาจเป็นตลาดออนไลน์ หลังจากโควิดจะเห็นว่าส่วนใหญ่ตลาดเข้าสู่ระบบดิจิตัล วันนี้มีหลายเครือข่ายร่วมมือกันทำให้ทุกคนเข้าถึง หากใครมีผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าร่วม Bangkok Brand สามารถติดต่อที่สำนักพัฒนาสังคมได้ กรุงเทพมหานครจะพยายามหาช่องทางการขายให้ได้มากที่สุด รวมถึงเชื่อมโยงแหล่งทุนและประกันคุณภาพต่าง ๆ ของสินค้าให้ด้วย
สำหรับปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) 2023 และได้รับประกาศเกียรติบัตรรับรองจากกรุงเทพมหานคร จำนวน 679 ราย แบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้ 1. ระดับ Premium จำนวน 233 ราย 2. ระดับ Platinum จำนวน 195 ราย 3. ระดับ Gold จำนวน 150 ราย 4. ระดับ Silver จำนวน 58 ราย และ 5. ระดับ Bronze จำนวน 43 ราย
นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจาก ผู้บริหาร SME Bank เรื่อง "การเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง" กิจกรรม Workshop สำหรับผู้ประกอบการในการทำตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ แนะนำการเปิดตลาด Online ในการเป็นเจ้าของร้านค้า และการสร้างการรับรู้สินค้าในตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์และการสร้าง Content ด้วยภาพอย่างไรให้น่าสนใจบนโลก Social
โดยงานแถลงข่าวผลการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) 2023 นี้ มี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม