In News

3ปัจจัยหนุนภาวะศก.การคลังในก.ค.66 ขยายตัวเพิ่ม'ท่องเที่ยวพุ่ง-เงินเฟ้อลด'



กรุงเทพฯ-“เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก”

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน: โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 17.3 และ 13.0 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.5 และ 6.6 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.6 จากระดับ 56.7 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -10.2 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -1.6

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -19.9 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.9 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.9 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.5  

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงที่ร้อยละ -2.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง นมและผลิตภัณฑ์นม และสิ่งปรุงรสอาหาร ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ยังมีหลายตลาดที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาดฮ่องกง สหราชอาณาจักร ทวีปออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 5.8 2.4 และ 0.9 ตามลำดับ สอดคล้องกับกลุ่มตลาดอื่น ๆ ขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 64.9 และ 33.8 ตามลำดับ   

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.49 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 119.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.3 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกรกฎาคม 2566 จำนวน 19.8 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 18.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1 สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.7 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.5 จากการขยายตัวของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และไม้ผล ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพด ลดลง ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.3 จากระดับ 94.1 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.38 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.86 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.61 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 220.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ