In News

'ท่องเที่ยว'ดันศก.ภูมิภาคขยายตัวทุกภาค เผยในก.ค.66'ภาคใต้-เหนือ'พุ่งมากสุด



กรุงเทพฯ-เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ขยายตัวได้ในทุกภูมิภาคอีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีในภาคใต้ และภาคเหนือ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ขยายตัวได้ในทุกภูมิภาคอีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีในภาคใต้ และภาคเหนือ” โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีอีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี เช่นเดียวกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 16.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.2 และรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -20.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -26.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 73.3 และ 39.0 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี เช่นเดียวกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.5 และ 14.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 และรายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี ขณะที่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,051.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 299.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลในจังหวัดสุโขทัย เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.3 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 9.7 และ 36.4 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนกรกฎาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -10.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,763.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 58.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตและจำหน่าย ชิ้นส่วนรถยนต์ ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 84.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.1 สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 62.3 และ 118.5 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อปี ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -1.0 และ -0.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 5.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0 และรายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -15.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 6.8 และ 18.1 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.8 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -11.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อปี เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 399.1 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 27.8 และ 26.6 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าคงทนขยายตัวได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 1.3 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -4.3 และ -0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -19.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,521.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 90.7 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตอุปกรณ์ระบบเครื่องปรับอากาศและสุขภัณฑ์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 39.8 และ 84.2 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกรกฎาคม 2566 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.7 อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกร และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 0.1 ต่อปี ตามลำดับ เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 635.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 63.0 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิต และซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 97.0 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 22.1 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ