In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติขอความร่วมมือผู้ใจบุญช่วย แบ่งปันอาหารคนไร้บ้านในจุดกำหนด



กรุงเทพฯ-(30 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน ณ วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีคนไร้บ้านมาอาศัยอยู่บริเวณถนนราชดำเนินค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงโควิดระบาดมีคนไร้บ้านประมาณ 1,800 คน เมื่อมิถุนายน 2565 ลดลงเหลือประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณถนนราชดำเนินเป็นหลัก และตรอกสาเก ด้านหลังถนนราชดำเนิน และมีบ้างที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งที่ราชดำเนินค่อนข้างเยอะเพราะมีผู้ใจบุญนำอาหารมาแจก และบางคนก็มีการแจกเงินด้วย 

ขอบคุณผู้ที่นำอาหารมาแจกทุกคน แต่อยากขอความร่วมมืออย่านำมาแจกที่ถนนราชดำเนิน ให้นำไปแจกในจุดกรุงเทพมหานครได้กำหนดไว้ให้ 2 จุดหลัก คือ เวลากลางวันที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เลยโรงละครแห่งชาติ ตรงจุดกลับรถ ซึ่งตรงนั้นจะเป็นจุดสวัสดิการด้วย มีการจัดหางาน ตรวจคัดกรองโรค ซักผ้า เป็นต้น ซึ่งคนไร้บ้านมีสิทธิเหมือนทุกคนในการรับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีการช่วยเหลือในการพิสูจน์ตัวตนเพื่อให้สามารถรับสวัสดิการต่าง ๆ ได้ด้วย ส่วนตอนเย็นแจกได้ที่จุดหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณตรอกสาเก 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่การนำอาหารมาแจก การแก้ปัญหาคือการให้คนไร้บ้านได้สิทธิ ได้งานที่มีความมั่นคง หลายคนมีความรู้ ต้องหางานให้เพื่อที่จะได้มีรายได้ หากมีหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนกรณีมีคนไร้บ้านที่สร้างความกังวลในประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาต้องดูแลให้เรียบร้อยโดยทุกส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการแก้ปัญหาไม่อยากให้เป็นระยะสั้น อยากให้ดูระยะยาว ส่วนกรณีขอทานหลายคนไม่ใช่คนไทย บางคนเช่าบ้านอยู่แต่พาลูกมาขอทานเพราะมีคนให้เงินเยอะ ซึ่งจะมีการเข้าไปดูต่อไป

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีการปรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานครบริเวณสะพานวันชาติเป็นบ้านอิ่มใจ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะนำสวัสดิการต่าง ๆ ไปรวมอยู่ตรงนั้น ซึ่งจะมีการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คาดว่าถ้าทำเป็นระบบขึ้นน่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงาได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งที่จุดสะพานปิ่นเกล้า และเรื่องอื่น ๆ เช่น โครงการจ้างวานข้า ที่เป็นการจ้างงานคนไร้บ้านเพื่อให้มีรายได้ ซึ่งจากเดือนกันยายน 2565 ถึงกรกฎาคม 2566 มีคนเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน มี 30 คน ที่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นคนที่มีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้

ทั้งนี้โครงการจ้างวานข้า เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธีกระจกเงาร่วมกันสำนักงานเขตพระนคร ในการจ้างงานคนไร้บ้านให้มีรายได้ เช่น การทำความสะอาด คัดแยกขยะ งานช่างทั่วไป หรือการช่วยงานในมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น ซึ่งในวันนี้มีคนไร้บ้านบางส่วนได้สมัครร่วมโครงการทำงานกวาดกับทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนครด้วย

สำหรับวันนี้ มีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร สำนักพัฒนาสังคม ผู้แทนมูลนิธิกระจกเงา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่