In Global
มณฑลกุ้ยโจวเปิดสัปดาห์ความร่วมมือ ภาคการศึกษาจีน-อาเซียนปี2566
กุ้ยหยาง, จีน-31 ส.ค. 2566-เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา สัปดาห์ความร่วมมือภาคการศึกษาจีน-อาเซียน (China-ASEAN Education Cooperation Week) ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ใหม่สำหรับความร่วมมือด้านการศึกษา ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในโครงการแถบและเส้นทาง” (New Vision for Education Cooperation, Common Prosperity for ‘Belt and Road’) ได้เปิดฉากขึ้นที่เขตใหม่กุ้ยอัน มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ฮ่วย จิ้นเผิง (Huai Jinpeng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจีน และเลขาธิการกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจีน เปิดเผยขณะกล่าวสุนทรพจน์ว่า การศึกษาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงสำคัญ ในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน และทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาร่วมกันของจีนและอาเซียน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เสนอข้อเสนอไว้ 5 ประการในการร่วมสร้างบ้านของเรา ซึ่งจีนและประเทศในแถบอาเซียนได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อันดีในการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษา ในภายภาคหน้านั้น จีนพร้อมที่จะร่วมมือกับประเทศในอาเซียนและมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการสนับสนุน เป็นผู้นำ และเชื่อมโยงบทบาทด้านการศึกษา และเมื่อมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อปั้นบุคลากรมากความสามารถและสนับสนุนโครงการแถบและเส้นทาง ขณะที่ยกระดับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนเพื่อส่งเสริมการสนับสนุนทางสังคมและสาธารณะต่อโครงการแถบและเส้นทางแล้ว การศึกษาก็จะเข้ามาช่วยผลักดันโครงการแถบและเส้นทางสู่เส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรือง นวัตกรรม และมิตรภาพ ก่อให้เกิดเสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจีนและอาเซียน
หลี่ ปิงจุน (Li Bingjun) รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกุ้ยโจว และผู้ว่าการมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน กล่าวว่า “นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ 16 ปีที่แล้ว สัปดาห์ความร่วมมือภาคการศึกษาจีน-อาเซียน ได้กลายเป็นเวทีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างรัฐบาลที่มีอิทธิพลมากที่สุดระหว่างจีนกับอาเซียน โดยกุ้ยโจวในฐานะเจ้าภาพถาวรประจำสัปดาห์ความร่วมมือภาคการศึกษา ก็ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในสุนทรพจน์และคำแนะนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อย่างเต็มที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ยกระดับมาตรฐานการศึกษาโดยรวม และให้การสนับสนุนแนวปฏิบัติในการส่งเสริมความทันสมัยแบบฉบับจีนในกุ้ยโจวอย่างสุดกำลัง” นอกจากนี้ คุณหลี่ยังเปิดเผยด้วยว่า กุ้ยโจวยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นใหม่แห่งประวัติศาสตร์ โดยยังคงเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กระชับความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวต่อไป เพื่อเข้ามาสนับสนุนการสร้างประชาคมจีนและอาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน
พุด สิมมาลาวง (Phout Simmalavong) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว เปิดเผยในสุนทรพจน์ว่า สัปดาห์ความร่วมมือนี้มอบโอกาสอันล้ำค่าสำหรับจีนและอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ และเสริมสร้างความร่วมมือ นอกจากนี้ เขายังแสดงความตั้งใจที่จะกระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในสาขาต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับทั้งจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ยุ้น พ่าย (Nyunt Phay) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของเมียนมา เน้นย้ำถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เขาแสดงความหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้โครงการแถบและเส้นทางเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการบูรณาการในระดับภูมิภาคด้วย
เจ พรอสเพโร อี เด เวรา ที่สาม (J. Prospero E. De Vera III) ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “งานนี้หลอมรวมวิสัยทัศน์ร่วมกันในการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน ผมหวังอย่างจริงใจว่า การกระชับความร่วมมือทางการศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาดิจิทัล จะเปิดโอกาสให้จีนและอาเซียนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาร่วมกัน และสร้างอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นให้กับประชาชนของตนได้” ส่วนนาเดียม อันวาร์ มาคาริม (Nadiem Anwar Makarim) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม วิจัย และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดเผยผ่านวิดีโอว่า ปีนี้เป็นการครบรอบ 10 ปีของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เขาคาดหวังว่าจีนและประเทศในอาเซียนจะทำงานร่วมกัน พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของความร่วมมือด้านการศึกษา และปูทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและอนาคตที่ดีกว่าสำหรับมวลมนุษยชาติ ด้านเก้า กึมฮอน (Kao Kim Hourn) เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิดีโอว่า สัปดาห์ความร่วมมือภาคการศึกษาจีน-อาเซียน เป็นเวทีสำคัญเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมความสามัคคี ทั้งสองฝ่ายควรใช้กิจกรรมนี้เป็นโอกาสในการเร่งสร้างประชาคมการศึกษาจีน-อาเซียนที่เป็นนวัตกรรม ครอบคลุม และยั่งยืน
ภายในพิธีเปิดยังมีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรการศึกษาดิจิทัลจีน-อาเซียน และเครือข่ายอุดมศึกษาด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจีน-อาเซียน ด้วยเช่นกัน