In Bangkok
กทม.เปิดพื้นที่สาธารณะสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะและวัฒนธรรม
กรุงเทพฯ-(1 ก.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมเวทีทอล์กเนื่องในโอกาสดำเนินงานครบรอบ 15 ปี ภายใต้ชื่อ “BACC TALK 15 เวทีทอล์กยกกำลัง 15 ในวาระ 15 ปี หอศิลปกรุงเทพฯ” ในวันที่ 29 ก.ค. 66 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื้อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเครือข่ายจากหลากหลายสาขาได้มาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางศิลปวัฒนธรรมและสังคม อีกทั้งเวทีทอล์กครั้งนี้เป็นการสำรวจและเปิดบทสนทนาถึงแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงก้าวต่อไปของแวดวงศิลปวัฒนธรรมผ่านสายตาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตัวจริง ตั้งแต่แนวทางการวางนโยบายศิลปวัฒนธรรมและการสนับสนุนจากภาครัฐไปจนถึงศิลปะกับการแสดงออกทางความคิดและพัฒนาสุขภาวะในระดับปัจเจกบุคคล
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวในหัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองศิลปะ และนโยบายสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร” สรุปโดยรวมว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นทั้งพื้นที่แสดงออก และทำให้เจอผู้คนมากมาย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยากสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองศิลปะหรือเมืองวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันมี 12 นโยบายที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งนี้เมื่อเข้ามาทำงานตรงนี้คิดว่ามีหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการ คือ อย่างแรก ปรับบทบาทการทำงานร่วมกับราชการ ต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกัน สร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม การเปิดพื้นที่เพื่อการทดลอง เรียนรู้ ปรับปรุง และขยายผลต่อไป การส่งเสริมมิติของศิลปะและวัฒนธรรมเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากนักสร้างสรรค์จะอยากฉีกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการแสดงออกทางคิด งานแรกๆ ที่เจอแรงเสียดทานคือทำอย่างไรจะมีพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ได้ฉีกกฎเกณฑ์ทางการแสดงออก บทบาทของกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปคือการพยายามอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือให้เกิดการสร้างสรรค์ในสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในแง่ของพื้นที่
ต่อมาเป็นการเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำจริงยากมาก กรุงเทพมหานครทำงานผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เวลาทำงานอย่างหนึ่งจะมีการพูดถึงว่าเป็นงานของใคร หน่วยงานไหนรับผิดชอบ จึงพยายามตั้งการทำงานผ่านมิติของนโยบายโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเปิดพื้นที่ทดลอง เมื่อก่อนการใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครค่อนข้างยากมาก ก็มีความพยายามทดลองเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ เช่น ศิลปินเปิดหมวกตามพื้นที่ต่าง ๆ หรือการเปิดพื้นที่ให้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งจะมีการขยายผลในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปด้วย
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้จัดเทศกาลทั้ง 12 เดือน เพื่อช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กีฬา ดนตรี ภาพยนตร์ ความหลากหลายทางเพศ การอ่านหนังสือ การเรียนรู้ อาหาร ความเป็นไทย การออกแบบ เป็นต้น ปีนี้เชื่อว่าจะมีพื้นที่เปิดมากขึ้นในการจัดกิจกรรม ซึ่งในช่วงปลายปีมีการเปิดพื้นที่ให้เอกชนและชุมชนร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานศิลปะ การจัดงานในช่วงไฮซีซันจะทำให้กรุงเทพมหานครกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีการจัดงานย่านสร้างสรรค์ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นศิลปะและวัฒนธรรมหรือสิ่งต่าง ๆ ของย่านในชุมชนให้เป็นที่รู้จักและมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการเปิดพื้นที่ในการจัดงานต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมที่แตกต่าง และสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมได้
ภายในกิจกรรมมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาร่วมเวทีทอล์กฯ ประกอบด้วย นางสาวอดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายวสันต์ สิทธิเขตต์ ผศ.ดร.วิชญ มุกดามณี นายธีระวัฒน์ มุลวิไล นายโตมร ศุขปรีชา นายอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์