In News
ปลัดมท.เปิดงานวันพัฒนาชุมชนปี2566 มอบรางวัลพระราชทานนักพัฒนาชุมชน
กรุงเทพฯ-ปลัด มท. เปิดงานแสดงผลสำเร็จของการพัฒนา (วันพัฒนาชุมชน) ปี 66 พร้อมมอบรางวัลแก่นักพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายรวม 325 รางวัล เน้นย้ำ การทำงานพัฒนาชุมชนต้องบูรณาการคน บูรณาการงาน ช่วยกันสร้างจังหวัดและประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
วันนี้ (4 ก.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานแสดงผลสำเร็จของการพัฒนา (วันพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 12 ปี 2566) กรมการพัฒนาชุมชน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ผู้แทนส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรชุมชนและเครือข่ายจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ร่วมในพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบโล่รางวัลและรางวัล รวม 325 รางวัล ได้แก่ โล่รางวัลสิงห์ทอง จำนวน 228 รางวัล รางวัลเชิดชูเกียรติกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 72 รางวัล รางวัลโครงการจัดทำสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 7 รางวัล และรางวัลส่งเสริมกิจกรรมเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตดีเด่น จำนวน 18 รางวัล พร้อมทั้งกล่าวแสดงความชื่นชมยินดี ให้โอวาท และทำพิธีเปิดงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนเป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ทำงานใกลัชิดกับประชาชนในพื้นที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนถึงวันนี้ล่วงมาเป็นเวลากว่า 61 ปีแล้ว โดยมีวิสัยทัศน์ที่ว่า “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้น การที่จะทำให้สิ่งที่เป็นวิสัยทัศน์กลายเป็นที่ประจักษ์เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น เราต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ คำนึงถึงหน้าที่ของพวกเราทุกคนในฐานะ “คนมหาดไทย” ที่ต้องใช้กลวิธีผสานกับ "หัวใจ" หรือ Passion ที่เรามุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน โดยโน้มน้าวใจให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนมาร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองอย่างยั่งยืนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ "บรม" บ้าน ราชการ มัสยิด "ครบ" คริสต์ ราชการ บ้าน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ถูกสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประยุกต์ไปสู่การเป็น "อารยเกษตร" หรือที่เราเรียกกันว่า โคก หนอง นา ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนเหล่านั้นมาเป็นภาคีเครือข่ายของเราให้ได้ เพราะภาคีเครือข่ายทีมอำเภอที่เป็นทีมทางการ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) นั้น มีสัดส่วนจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรในหมู่บ้าน
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างทีมงานในหมู่บ้าน สร้างทีมงานในตำบลเพิ่มเติม โดยน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ส่งเสริมให้เกิดความร่วมแรงแข็งขัน ร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยคนในชุมชนในหมู่บ้าน ในลักษณะ "หย่อมบ้าน คุ้มบ้าน หรือป๊อกบ้าน" ที่แต่เดิมเคยช่วยกันดูแลในเรื่องความปลอดภัย หรือเวลาที่บ้านใดบ้านหนึ่งมีงานบวช งานแต่ง งานศพ ก็ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ก็ร่วมกันซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึ่งในสมัยก่อนการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจะทำโดยชาวบ้านด้วยกัน อยู่กันแบบพี่แบบน้อง อยู่กันในสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งเราต้องร่วมกันฟื้นฟูให้การรวมกลุ่มเรานี้กลับมาให้จงได้ โดยเมื่อเรารวมกลุ่มกันได้ การที่จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องก็จะเกิดขึ้น
"หลักการทำงานที่สำคัญ ที่เป็นเหมือนหลักชัยของการพัฒนา นั่นคือ การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่งเสริมให้เป็นวิถีชีวิต เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง พร้อมน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือที่พวกเราชาวพัฒนาชุมชนจะรู้จักกันในชื่อ "ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช." การใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นมนุษย์ Reduce ใช้น้อย Reuse ใช้ซ้ำ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมร่วมกันจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้เกิดจุลินทรีย์สารบำรุงดิน บำรุงพืชผักสวนครัว พืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ พร้อมทั้งร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ดังที่พวกเราทุกคนได้ร่วมกันรณรงค์ “วันดินโลก World Soil Day 2022" ภายใต้หัวข้อ Soils, where food begins : อาหาร ก่อกำเนิด เกิดจากดิน ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันดินโลก เพื่อยกย่องพระปรีชาชาญในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและทรัพยากรมนุษย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยพร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีอีกผลความสำเร็จหนึ่งซึ่งเกิดจากพลังความร่วมไม้ร่วมมือของชาวพัฒนาชุมชนผู้เป็นแกนหลักในการเสริมสร้างเกราะคุ้มครองและป้องกันปัญหายาเสพติดให้กับชุมชน คือ "กองทุนแม่ของแผ่นดิน" อันเป็นกองทุนที่พวกเราทุกคนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการมุ่งมั่นนำเงินจากกองทุนสำหรับจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการขับเคลื่อน "กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี" เพื่อเป็นแหล่งทุนในการพัฒนาศักยภาพของพี่น้องสตรีในพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน โดยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะมีความหมายและความสำคัญกับชีวิตพี่น้องสมาชิกกองทุนที่มีความยากลำบากในการประกอบอาชีพและขาดโอกาสในการลงทุนประกอบอาชีพ ด้วยการเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี หรือแค่ 10 สตางค์ต่อปี ที่ในตอนนี้หลายจังหวัดประสบความสำเร็จในการลดหนี้ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดนราธิวาส ที่มีผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้คงเหลือยอดเยี่ยม จนสามารถลดหนี้คงเหลือของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จาก 60% เหลืองเพียง 1% ภายในระยะเวลา 1 - 2 ปี ซึ่งขอให้ได้นำผลสำเร็จนี้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมให้เพื่อนสมาชิกจังหวัดอื่น ๆ ได้เห็นเป็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้ เพื่อที่จะทำให้เงินของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นเงินที่ก่อเกิดประโยชน์กับสมาชิกพี่น้องสตรีไทยคนอื่น ๆ ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งคืนเงินกู้กลับคืนสู่กองทุนสำหรับเพื่อนคนอื่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
"ขอฝากให้ผู้รับรางวัลทั้ง 325 คน และพวกเราชาวมหาดไทย ได้ช่วยกันเป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" ในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีในทุกเวลาทุกนาที ทำให้ทุกพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน ด้วยการสร้างทีม โดยโน้มน้าวใจพี่น้องประชาชนและภาคีเครื่องข่ายทั้งทีมทางการ และทีมจิตอาสา 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อผนึกกำลังมาร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์กันอย่างต่อเนื่อง อันจะก่อกำเนิดเกิดเป็นองค์ความรู้แก่ชุมชน/หมู่บ้าน ตลอดจนเกิดการเสริมสร้างพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการจัดงานวันพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึง ปี พ.ศ. 2565 ทั้งหมด 11 ครั้ง โดยใช้โอกาสในวันคล้ายวันก่อตั้งกรมการพัฒนาชุมชน ในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นช่วงเวลาของการจัดกิจกรรม โดยการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานวันพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงผลสำเร็จของงานพัฒนาชุมชนต่อสาธารณชน ได้แก่ การขับเคลื่อนภารกิจพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยการสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ การเสริมสร้างความเข้มแข้งของชุมชนผ่านการพัฒนาผู้นำกลุ่ม/องค์กรชุมชน การเสริมศักยภาพชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเองได้ และการนำเสนอทิศทางการพัฒนาชุมชนในปี 2567 อีกทั้งกรมการพัฒนาชุมชนมีความประสงค์ที่จะต้องการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายองค์กร หมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล และบุคลากร/หน่วยงานกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2566
“สำหรับการจัดกิจกรรมงานแสดงผลสำเร็จของการพัฒนา (วันพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 12 ปี 2566) กรมการพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ แบ่งพื้นที่จัดงานออกเป็น 6 โซน ได้แก่ 1) โซน "สถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน" 2) โซน "การพัฒนาตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ภายใต้เป้าหมาย SDGs 3) โซน "การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน" ให้มีความสามารถในการบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน 4) โซน "การส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก" เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตแก่ประชาชนและชุมชน 5) โซน "การสร้างความร่วมมือและส่งเสริมบทบาทเครือข่ายการพัฒนาชุมชน" เพื่อยกระดับงานพัฒนาชุมชนให้ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และ 6) โซน "การพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย" มีสมรรถะสูง และมีธรรมาภิบาล บุคลากรมีอุดมการณ์และเชี่ยวชาญในงานพัฒนาชุมชน และยังมีการปาฐกถาพิเศษการเสวนาวิชาการ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และผลิตภัณฑ์จากการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชนกว่า 180 บูธ ดำเนินการระหว่างวันที่ 4 - 6 กันยายน 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนตลอดจนภาคีเครือข่าย ได้มาร่วมชมการจัดแสดงผลงานและเลือกซื้อเลือกหาอุดหนุนให้กำลังใจผู้ประกอบการโดยพร้อมเพรียงกัน” นายอรรษิษฐ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย