In Bangkok
กทม.จ่อเซ็นสั่งพักราชการตั้งกก.สอบวินัย นายช่างโยธาฯลาดกระบังเรียกรับเงิน
กรุงเทพฯ-(6 ก.ย. 66) ณ โถงชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง: นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงขั้นตอนการดำเนินการในส่วนของกรุงเทพมหานครกรณีนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง เรียกรับสินบน 5 หมื่น แลกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวว่า สืบเนื่องจากวานนี้ (5 ก.ย. 66) ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) เข้าจับกุม นายวิโรจน์ อิริยะโพธิ์งาม อายุ 59 ปี ตำแหน่งนายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง ณ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตลาดกระบัง ในความผิดมาตรา 149 "เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่" และมาตรา 157 "ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต" ตามประมวลกฎหมายอาญา นั้น
กรุงเทพมหานคร โดยปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2748/2566 ลงวันที่ 5 ก.ย. 66 และมีคำสั่งให้ช่วยราชการ คือ คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 2749/2566 ให้ข้าราชการรายดังกล่าวไปช่วยราชการที่กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา (สนย.) ซึ่งเป็นกองที่ไม่ต้องติดต่อใกล้ชิดกับประชาชน โดยให้ไปช่วยราชการในทันที ส่วนในวันนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครจะลงนามในคำสั่งพักราชการข้าราชการรายดังกล่าว ตามกฎ ก.ก. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2565 ข้อ 85 ซึ่งการพักราชการนี้จะมีกำหนดไม่เกิน 120 วัน หากจะต่ออีก จะได้ไม่เกินอีก 60 วันต่อครั้ง
รองปลัดฯ เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน หรือการทำงานย้ายงานแล้วกลับมาที่เดิม อาจเป็นการสร้างอิทธิพลทำให้เกิดปัญหาได้ สังเกตได้จากรายดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีการหมุนเวียนหรือโยกย้ายการทำงานแล้วกลับมาที่เดิม โดยปี 2549 อยู่ที่สำนักงานเขตลาดกระบัง ปี 2560 สำนักงานเขตห้วยขวาง ปี 2561 สำนักงานเขตลาดกระบัง ปี 2564 สำนักเขตวังทองหลาง และกลับมาสำนักเขตลาดกระบังอีกครั้งหนึ่ง กรณีนี้ทางผู้บริหารอาจจะต้องพิจารณาเรื่องของการโยกย้ายสถานที่ทำงาน รวมถึงระบบการยื่นขออนุญาตต่าง ๆ ด้วย โดยมีคณะการพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้ในด้านการสอบวินัยร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนจะดำเนินการเพื่อหาผู้กระทำผิดที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในส่วนของเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องทางคดีอาญา จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการขยายผลต่อไป
ด้าน ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้มีการติดตามมาแต่สัปดาห์ที่แล้วเพียงแต่พยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน โดยได้มีการประสานกับทางผู้การ ปปป. อยู่ตลอด เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ไปตามช่องทางของ ป.ป.ท. สายด่วน 1206 ส่วนช่องทางของกรุงเทพมหานคร ก็มีหมายเลขในเรื่องของการรับเรื่องราวร้องทุกข์ คือ 1555 และ Traffy Fondue
กรุงเทพมหานครจริงจังกับสิ่งการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน และขอย้ำกับเจ้าหน้าที่กทม.ว่าอย่าเรียกรับทรัพย์สินเงินทองจากประชาชน กทม.ยุคนี้เอาจริงจังจังในเรื่องของการป้องกันการทุจริต จะไม่มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิด ส่วนในเรื่องของการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ได้มีการพูดคุยกันในระดับบริหารว่าจะต้องมีการรับผิดชอบเป็นลำดับชั้น เพื่อให้ผู้บังคับบัญชามีส่วนรับผิดชอบกรณีผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิดด้วย
ซึ่งในกรณีนายช่างโยธาอาวุโสนี้ หัวหน้าฝ่ายโยธาจะต้องทราบขั้นตอนในการให้บริการประชาชน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนพ.ย. 65 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเท่าไร ทำไมถึงใช้เวลานาน ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ประชาชนทำแล้วไม่ครบถ้วนได้มีการแนะนำอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ควรจะต้องมีการบันทึกเป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินเรื่องและขั้นตอนต่าง ๆ ได้ และจะได้ทราบว่ากระบวนการไปช้าที่ส่วนใดและด้วยเหตุใด หากช้าเพราะเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการทางวินัย หรือหากช้าเพราะมีการเรียกรับผลประโยชน์ก็ดำเนินคดีอาญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทางผู้บังคับบัญชาระดับผู้อำนวยการเขตต้องเข้ามาสอดส่องดูแล
ต่อไปอยากให้มีระบบในการตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยฝ่ายปกครอง หรือ ผอ.เขต จะต้องดูได้ว่าวันนี้ออกเลขให้กับประชาชนไปเท่าไร เป็นเรื่องใบอนุญาต/ขออนุญาตอะไรบ้าง เมื่อครบกำหนดให้ระบบแจ้งเตือนเองว่าวันนี้จะต้องออกใบอนุญาตให้ใครบ้าง ผอ.เขตเซ็นหรือยัง เพื่อให้ผอ.เขตรู้หน้าที่ของตัวเองว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไร หากกระบวนการล่าช้าจะต้องติดตามตรวจสอบจากฝ่ายที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งหากมีระบบนี้ ช่องทางในการที่จะเรียกรับก็จะลดน้อยลง
ทั้งนี้ ขอฝากเรื่องของประมวลจริยธรรม ทั้งการครองตน การครองงาน เพื่อให้การทำงานอยู่บนระบบคุณธรรม มีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่ชัดเจน มีความซื่อสัตย์สุจริต สะดวกรวดเร็ว รักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รักษาภาพลักษณ์ของหน่วยงาน รวมถึงคิดไตร่ตรองก่อนทำด้วย
ส่วนประชาชนหากถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับ ให้หาช่องทางในการแจ้งข้อมูล โดยสามารถแจ้งกับกทม.ได้ที่ระบบ Traffy Fondue ซึ่งเป็นระบบปิดและจะมีหน่วยงานรับเรื่องทุจริตไปดำเนินการโดยเฉพาะ อย่ากลัวที่จะให้ข้อมูลในเรื่องของชื่อและเบอร์โทรศัพท์ เนื่องจากจะต้องมีการติดต่อกลับ
และอีกช่องทางหนึ่งคือ สายด่วน 1555 โดยกรณีสายด่วนซึ่งปัจจุบันจ้าง outsource รับเรื่อง จะมีการหารือกับผู้บริหารอีกครั้งในการหาแนวทางที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะแจ้งเรื่องเข้ามา ปรับปรุงช่องว่างที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกใจในการแจ้งข่าวสาร
“อย่างไรก็ตาม การปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ดังนั้น เมื่อกทม.พยายามกระจายอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการ แต่เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือในการกระจายอำนาจไปในทางแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองแล้ว เราอาจจะต้องมีเงื่อนไขหรือวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อควบคุมดูแล และเพื่อลดช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์หรือการทุจริตของเจ้าหน้าที่ต่อไป” ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ ย้ำ
สำหรับข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) มีจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนก.พ. - เดือนส.ค. 66 ทั้งสิ้น 206 เรื่อง จำแนกตามสายงาน เป็นสายงานโยธา 40 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ 12 เรื่อง จาก 10 เขต ซึ่งได้ให้คณะทำงานลงไปสืบข้อเท็จจริง หากเข้าข่ายทุจริตก็จะส่งไปทาง ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ตามกรณี ส่วนถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ถึงขั้นทุจริตแต่มีความผิดทางวินัย ก็จะส่งให้ทางผู้อำนวยการ ศปท.กทม. (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) สั่งการไปยังปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้มีอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งดำเนินการทางวินัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
นอกจากการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อออกใบอนุญาต 12 เรื่องแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้าง/รื้อถอนอาคารแต่หน่วยงานดำเนินการล่าช้า ปล่อยปละละเลย/ไม่ดูแลที่สาธารณะ งานบริหารบุคคล/แต่งตั้งโยกย้าย/ไม่ได้บรรจุ การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว และกรณีอื่น ๆ เช่น ปรับปรุงพื้นถนน/ทางลอดอุโมงค์ล่าช้า ป้ายขนาดใหญ่ยื่นนอกออกคาร ฯลฯ
ทั้งนี้ จากเรื่องร้องเรียนทั้ง 206 เรื่อง แบ่งการรับแจ้งจากช่องทาง Traffy Fondue จำนวน 174 เรื่อง คิดเป็น 84.47% ช่องทางผู้บริหารกรุงเทพมหานคร 31 เรื่อง คิดเป็น 15.05% และทางอีเมล จำนวน 1 เรื่อง คิดเป็น 0.49% จำแนกตามสายงาน (3 อันดับแรก) ได้เป็น โยธา 40 เรื่อง เทศกิจ 39 เรื่อง รักษาความสะอาด 36 เรื่อง