In Bangkok

กทม.รับ'2รางวัลเลิศรัฐ'ย้ำความเป็นเลิศ ด้านการบริการแก่ประชาชน 



กรุงเทพฯ-(7 ก.ย.66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมสัมมนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคาร อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี 

สำนักงาน ก.พ.ร. จัดงานเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานที่ได้รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 เพื่อช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการ และระบบการบริหารงานของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลจะเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่หน่วยงานอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการทำงานของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป 

รางวัลเลิศรัฐ เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศรางวัลเลิศรัฐ ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดพิธีมอบรางวัลอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 สำหรับในปีนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดจัดงานการสัมมนาวิชาการและพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 ในวันที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 09.00 - 16.30 น. ณ ห้อง Grand Diamond Ballroom ชั้น 2 อาคาร อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยกิจกรรมในช่วงเช้า มีการจัดเสวนา เรื่อง "ภาครัฐเปิด ประเทศปรับ พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน" และหลังจากนั้น มีการจัดเสวนาเรื่อง "จากความมุ่งมั่น สู่ความสำเร็จ จากความสำเร็จ สู่ความยั่งยืน" และช่วงบ่ายเป็นการมอบรางวัล "เลิศรัฐ" โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่สมัครรับรางวัลทั้งสิ้น 1,946 ผลงาน และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 238 รางวัล ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการภายใต้แนวคิดการพัฒนาไปสู่องค์การดิจิทัลที่การนำนวัตกรรมไปใช้ในการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการองค์กร และการขับเคลื่อนองค์การโดยใช้ข้อมูลในการพัฒนานโยบายและการให้บริการ

โดยผลงานของกรุงเทพมหานครได้รับรางวัล จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่
1. ผลงาน “BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน” ของสำนักงาน ก.ก. ได้รับรางวัล “ระดับดีเด่น” สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน จากหน่วยงานที่ส่งจำนวน 740 ผลงาน ซึ่งผลงาน “BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน” มีสาระเกี่ยวกับการเปิดระบบราชการโดยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ไขปัญหาเมือง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้  ส่วนแรก การให้บริการของศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ ส่วนที่ 2 การให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ชื่อว่า “Traffy Fondue” ซึ่งเปิดให้ประชาชนรายงานปัญหาและติดตามการแก้ไขปัญหาผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ส่วนที่ 3 การเชื่อมโยงศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ (1555) กับระบบ Traffy Fondue ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เพื่อจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เกี่ยวกับปัญหาเมืองที่ถูกต้องครบถ้วนให้กับประชาชนได้ทราบและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง 

2. ผลงาน “โครงการ Smart OPD” ของสำนักการแพทย์ ได้รับรางวัล “ระดับดี” สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ จากหน่วยงานที่ส่งจำนวน 832 ผลงาน ซึ่งโครงการนี้เป็นการพัฒนา Mobile Application “หมอกทม.” หรือ “BMA Doctor  โดยการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพมหานครได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ