In Bangkok

กทม.​การปรับปรุงการขออนุญาตก่อสร้าง ​หนุน​ระบบBMA OSS​ยื่นขอออนไลน์



กรุงเทพฯ-(8 ก.ย.66)​ นายวิศณุ​ ทรัพย์สมพล​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงาน​ เข้าร่วมประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร​ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี​ นายณรงค์​ เรืองศรี​ รองปลัดกรุงเทพมหานคร​ และคณะทำงานจากสำนักการโยธา​ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ กรมที่ดิน​ กรมโยธาธิการและผังเมือง​ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย​ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย​ (TDRI)​ มูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯลฯ​ ร่วมประชุม​ ณ ห้องประชุมโยธา 1 ชั้น 6 สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวว่า​ ในปัจจุบัน​สมควรอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงกฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการ ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร​ โดยมุ่งหวังว่าการยื่นขออนุญาตฯ​ ด้วยระบบออนไลน์จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและประชาชนใช้บริการอย่างแพร่หลายภายในสิ้นปีนี้ 

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​ กล่าวด้วยว่า​ TDRI ได้ให้ข้อเสนอแนะถึงการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง​ที่มีปัญหา​ โดยแบ่งเป็นปัญหา​ ดังนี้​ 1.ไม่เร็ว คือ​ แหล่งข้อมูลไม่อำนวยในการหาข้อมูลการขออนุญาต​
ระยะเวลาในการพิจารณาแบบแปลนนานและมีการแก้ไขหลายครั้ง​ รวมถึงจํานวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ​ ซึ่ง​ปัจจุบันกทม.​แก้ปัญหาโดยดำเนินการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายควบคุมอาคาร ตามช่องทางต่างๆ​ เช่น เว็บไซต์สำนักงานควบคุมอาคาร ศูนย์วิชาการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายอาคาร​ เช่น​ คู่มือการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ฉบับประชาชน เผยแพร่แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด เช่น ข้อกฎหมายที่ ประชาชนมักเข้าใจไม่ถูกต้อง สรุปรายละเอียดกฎหมายให้เข้าใจง่าย รวมถึงปรับปรุงปรับปรุงข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ควบคุมอาคารฉบับใหม่ ให้มีการแบ่งจํานวนวันในการพิจาณาให้เหมาะสมกับประเภทและขนาดของอาคาร​ รวมทั้งศึกษาการปรับแก้ไขพรบ.ควบคุมอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถให้ผู้ตรวจเอกชนกระทำการตามกฎหมาย ควบคุมอาคารแทนนายช่างนายตรวจ ได้

2. ไม่ชัด​ คือ​ กฎหมายขาดความชัดเจนทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันและใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่​ กทม.​จึงดำเนินการจัดทําคู่มือการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารฉบับประชาชน เผยแพร่แก่ประชาชน จัดทําฐานข้อมูลความกว้างเขตทางและลํารางสาธารณะ​รวมถึงปรับปรุงข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ควบคุมอาคารฉบับใหม่ เช่น การ ออกแบบอาคารด้านต่างๆ ให้ใช้ตามมาตรฐานที่น่าเชื่อถือได้นอกจาก ต้องใช้ตามกฎกระทรวง

3.ไม่เชื่อม​ คือ​ การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน​ ทำให้เกิดภาระต้นทุนแก่ประชาชนในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ​ ด้วยตนเอง​ กทม.​จึงดำเนินการ​ระบบการยื่นขออนุญาตออนไลน์ BMA OSS ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ดังนี้​ สํานักงาน ก.พ.ร. (Digital ID และ Biz Portal) กรมการปกครอง (ทะเบียนบ้าน ทะเบียนบัตร) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD ID, หนังสือรับรองนิติบุคคล) กรมที่ดิน ฐานข้อมูลแปลงที่ดินและโฉนดที่ดิน) สภาวิศวกร (ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรควบคุม) การประปานครหลวง (การขอมิเตอร์ประปา) ส่วนการไฟฟ้านครหลวง สภาสถานปนิกอยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับ
4. ไม่ทันสมัย​ คือ​ ความไม่ทันสมัยของกระบวนการขออนุญาตฯ จําแนกออกเป็นสองส่วน ได้แก่​ 1) ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการขออนุญาต​ 2) ปัญหาการยื่นขออนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์​ กทม.​จึงดำเนินการ​เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายควบคุมอาคารตามช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์สํานักงานควบคุมอาคาร ศูนย์วิชาการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายอาคาร รวมถึงศึกษาการนําระบบเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาใช้ในการตรวจแบบแปลนอาคาร

ทั้งนี้​ ที่ประชุมได้แจ้งถึงคำสั่งคณะทํางานขับเคลื่อนการปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานให้ที่ประชุมทราบ​ โดยให้คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่ พิจารณา ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไข ปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน หรือลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อสร้าง รวมถึงเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูล หรือประสานหน่วยงานหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา 

จากนั้น​ ที่ประชุมยังได้พิจารณาสรุปรายงานผลการศึกษาโครงการกิโยติน กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ การขออนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร ที่จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย​ (TDRI) โดยมีข้อแนะนำแนวปฏิบัติของธนาคารโลก ประกอบด้วย 1. กฎหมาย​ กฎระเบียบต้องมีความชัดเจน​ มีความทันสมัย ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกัน 2.​ การเข้าถึงข้อมูลทั้งกฎระเบียบ ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาอนุญาตต้องมีความโปร่งใส​ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะช่วยลดการทุจริต ลดการใช้ดุลยพินิจและการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาต​ 3. คุณภาพความปลอดภัยของอาคารต้องมีการควบคุมดูแล ซึ่งรวมถึงกลไกการกํากับดูแลทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง​ ในหลายประเทศโดยนายตรวจเอกชนทําหน้าที่ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ 4. การประเมินโครงการก่อสร้างควรแยกตามประเภทความเสี่ยงอาคารแต่ละประเภท​ (Risk Based Approach) โดยโครงการก่อสร้างอาคารที่มีความเสี่ยงต่ำ เอกสารและรายการที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติก่อสร้างควรจะมีจํานวนน้อยกว่า โครงการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูง​ และ​ 5. การตั้งหน่วยงานให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Service) ที่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้างในที่เดียว โดย OSC จะทําหน้าที่ประสานการขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างทั้งหมด​ ซึ่งกทม.จะนำข้อแนะนำฯ​ ดังกล่าวไปดำเนินการต่อไป