In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตยานนาวาติดตาม จัดเก็บรายได้-คัดแยกขยะ-สวน15นาที
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่เขตยานนาวา เช็กระบบจัดเก็บรายได้ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตยานนาวา ชูต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนวัดช่องนนทรี จัดระเบียบผู้ค้าหน้าตลาดนางลิ้นจี่ สำรวจสวน 15 นาทีแยกถนนยานนาวา คุมเข้มค่าฝุ่นไซต์ก่อสร้างดีเอฟที
(8 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตยานนาวา ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 20,012 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 29,947 แห่ง ห้องชุด 23,665 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 73,624 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการบันทึกข้อมูล การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งเน้นย้ำการทำงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เรียนรู้เพิ่มเติมในระบบใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปด้วยความถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่กำหนด
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตยานนาวา มีข้าราชการและบุคลากร 170 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายคัดแยกเพื่อรวบรวมขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า และบริจาคให้กับโครงการแยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายคัดแยกและรวบรวมมาไว้ที่จุดรวมเพื่อทำปุ๋ยหมัก 3.ขยะอันตราย แต่ละฝ่ายรวบรวมนำมาไว้ที่จุดพักขยะอันตราย และส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยฯ 1 เดือนต่อครั้ง 4.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่รวบรวมขยะแต่ละฝ่ายมาไว้ที่จุดพักขยะ เพื่อรอการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 40 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดช่องนนทรี มีพื้นที่ 4 ไร่ 3 ตารางวา เป็นที่ดินของวัดช่องนนทรี มีครูบุคลากรและนักเรียน 700 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2563 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมน้ำหมักชีวภาพ โดยนำขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร แยกส่วนที่เป็นน้ำเทผ่านบ่อกำจัดไขมัน คัดแยกส่วนที่เป็นเศษอาหาร เทน้ำเปล่าใส่ถังและนำกากน้ำตาลลงไปละลายกับน้ำเปล่า นำเศษอาหารใส่ในถังหมักปิดฝาทิ้งไว้ 15 วัน เมื่อครบเวลาที่กำหนดกรองเศษที่ไม่ต้องการออก นำไปใช้ทำความสะอาดห้องน้ำและรดน้ำต้นไม้ 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมคัดแยกขยะ โดยให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนมีส่วนร่วม เพื่อปลูกฝังการมีวินัยในการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยห้องเรียนของแต่ละห้องจะมีการคัดแยกขยะรีไซเคิล 3 ประเภท ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติก กระดาษ และขยะทั่วไป โดยขยะขวดพลาสติกบางส่วน จะถูกส่งให้กับห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เพื่อไว้ใช้ประดิษฐ์ในชั่วโมงเรียน กระดาษและขยะทั่วไปที่สามารถขายได้ จะถูกนำไปขายที่จุดรับซื้อขายขยะ โดยมีคณะกรรมการทำหน้าที่รับซื้อและส่งขายที่ร้านรับซื้อต่อไป ส่วนเงินที่ได้จากการขายขยะ จะนำมาใช้จ่ายในห้องเรียนของตนเอง กิจกรรมกล่องนมรักษ์โลก เมื่อนักเรียนดื่มนมในแต่ละวันเสร็จแล้ว จะพับกล่องให้เรียบร้อยและนำไปไว้ที่ตู้รับกล่องนม เมื่อตู้รับกล่องนมเต็มแล้วจะรวบรวมใส่ถุงดำ เมื่อครบเวลา 1 เดือน จะแจ้งให้บริษัทมหานคร มารับและชั่งน้ำหนักไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบสำหรับการรับรางวัล “รวบรวมกล่องนมได้ปริมาณมากที่สุด” 3.ขยะทั่วไปนักเรียนแต่ละห้องเรียน นำขยะทั่วไปจากห้องเรียนลงมาทิ้งรวมกันที่จุดรับขยะ ส่วนขยะทั่วไปในบริเวณโรงเรียน พนักงานสถานที่รวบรวมนำมาที่จุดรับขยะ เพื่อให้เขตฯ นำไปกำจัด 4.ขยะอันตราย 5.ขยะติดเชื้อ นำขยะใส่ถังขยะอันตรายและถังขยะติดเชื้อ พนักงานสถานที่นำขยะไปรวมที่จุดพักคอย เขตฯ มารับนำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 523 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 66 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 748 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 700 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าในจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 244 ราย ได้แก่ 1.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ผู้ค้า 18 ราย 2.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 33 ราย 3.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 152 ราย 4.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 5.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้า ทั้ง 5 จุด พร้อมทั้งจัดทำคิวอาร์โค้ดและส่งมอบให้ผู้ค้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน มีจำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 51 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49-55 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 2.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 21 ราย 3.ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 8 ราย เขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคิวอาร์โค้ดให้ผู้ค้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย หรือจัดหาพื้นที่ทำเป็น Hawker Center เพื่อย้ายผู้ค้าไปยังจุดดังกล่าว รวมถึงดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณแยกถนนยานนาวาตัดกับถนนพระรามที่ 3 ถนนยานนาวา มีพื้นที่ประมาณ 2 งาน 40 ตารางวา อยู่ในความรับผิดชอบของเขตยานนาวา มีประชากรที่อยู่ภายในรัศมี 27,667 คน สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากพื้นที่เดิมมีลักษณะเป็นพื้นดินและมีระดับต่ำกว่าถนน เวลาฝนตกจะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ส่งผลให้ต้นไม้โทรม อีกทั้งต้นไม้ปลูกเป็นเวลานานหลายปี เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยจัดทำที่นั่งพักผ่อน ปูแผ่นหินทางเดิน ปลูกหญ้าและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน บริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ปรับปรุงพื้นโดยรอบที่มีสภาพเป็นดินทราย โดยให้ปูแผ่นเหล็กหรือเทปูนให้เรียบร้อย เพิ่มความสูงของรั้วให้มีความสูงประมาณ 6 เมตร และล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกโครงการ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทการสะสมซีเมนต์ หิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสุเมธ อมรศรีวรากุล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล